Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

เจาะซีเอสอาร์ ปี 61 เจอะทั้งโอกาสและท้าทาย

ไทยพัฒน์จี้ธุรกิจใส่ใจ “มณฑลที่ยั่งยืนของกิจการ”


สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศแนวโน้ม CSR ปี 61 ใน 6 ทิศทางสำคัญ พร้อมแนะธุรกิจต้องศึกษาและทำความเข้าใจกับบทบาทในการดูแลมณฑลแห่งความยั่งยืนของกิจการ

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวถึงทิศทาง CSR ปี 2561 ว่าเป็นครั้งแรกที่สถาบันไทยพัฒน์ นำเอาเรื่อง CG, ESG, CSR, CSV, SD, SE, SB มาอธิบายและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ให้เห็นอย่างเป็นระบบ โดยเรียกรวมว่าเป็น มณฑลแห่งความยั่งยืน หรือ The Sphere of Sustainability ซึ่งในแต่ละเรื่องมีเหตุผลของการดำรงอยู่ ตามบริบทที่เรื่องนั้นเข้าไปเกี่ยวข้อง มิใช่เรื่องที่นำมาใช้แทนกัน แต่เพื่อใช้ค้นหาวิธีการในการดำเนินการอย่างเป็นองค์รวมเพื่อให้ได้มาซึ่งสถานะแห่งความยั่งยืน

สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการประเมินทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ภายใต้รายงานที่มีชื่อว่า 6 ทิศทาง CSR ปี 2561: The Sphere of Sustainability เผยแพร่ให้แก่ผู้แทนขององค์กรธุรกิจและหน่วยงานที่เข้าร่วมงานเมื่อวันแถลงกว่า 200 คน เพื่อให้เป็นข้อมูลสำหรับภาคธุรกิจในการวางกลยุทธ์องค์กรที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนของกิจการ ให้สอดรับกับทิศทางการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนในระดับสากล


กิจการต้องพบประเด็นใหม่ที่เป็นโอกาสและท้าทาย
ในรอบปี 2561 องค์กรธุรกิจและหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน และตระหนักถึงการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ จะได้พบกับประเด็นใหม่ๆ ที่เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่อการขับเคลื่อนการดำเนินงานขององค์กร อาทิ หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (CG Code) ฉบับใหม่ สำหรับบริษัทจดทะเบียน หลักธรรมาภิบาลการลงทุน (I Code) ฉบับแรก สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน มาตรฐานการรายงานแห่งความยั่งยืนฉบับใหม่ สำหรับองค์กรที่จัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามแนวทางของ GRI เป็นต้น

การประกาศ CG Code และ I Code ทั้งสองฉบับ มีผลให้บริษัทจดทะเบียนจำเป็นต้องศึกษา CG Code ฉบับใหม่ เพื่อนำไปปฏิบัติ รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลในแบบ 56-1 (ที่จะมีผลใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป) และในแบบ 69-1 (ที่จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป) รวมถึงกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันที่จะต้องทำความเข้าใจกับ I Code เพื่อพิจารณารับไปปฏิบัติตามความสมัครใจ (Voluntary) ซี่งปัจจุบัน มีบริษัทจัดการลงทุน (บลจ.) ได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะรับเอาหลักธรรมาภิบาลการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนสถาบันมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานและการลงทุน รวม 26 แห่ง เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

หลักปฏิบัติทั้งสองฉบับ เน้นการบูรณาการประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เข้าไปอยู่ในกระบวนการทางธุรกิจของบริษัทจดทะเบียน (CG Code) และกระบวนการตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุนสถาบัน (I Code) ตั้งแต่การกำหนดทิศทาง กลยุทธ์ กระบวนการดำเนินงาน การติดตามและการรายงาน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเพื่อการสร้างคุณค่าให้กิจการอย่างยั่งยืน

ทำให้ในปี 2561 ความเข้มข้นของการขับเคลื่อนความยั่งยืนจะยกระดับขึ้นตามกฎเกณฑ์จากผู้กำกับดูแล (Regulatory Discipline) ด้วยหลักการ CG Code และแรงผลักดันจากผู้มีส่วนร่วมในตลาด (Market Force) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้ลงทุนสถาบัน ด้วยหลักปฏิบัติ I Code

เมื่อวันแถลงทิศทาง CSR สถาบันไทยพัฒน์ ยังจัดให้มีการเสวนาเรื่อง 'The Sphere of Sustainability' เพื่อถ่ายทอดแนวทางในการเสริมสร้างความยั่งยืนของกิจการ โดยบูรณาการแนวคิดสำคัญในด้านการกำกับดูแลกิจการ (CG) เรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) การสร้างคุณค่าร่วม (CSV) การพัฒนาที่ยั่งยืน (SD) วิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) และธุรกิจเพื่อสังคม (SB) นำมาอธิบายเชื่อมโยงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อย่างเป็นระบบ

แนะองค์กรศึกษา “มณฑลแห่งความยั่งยืน”
ด้าน วรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า “องค์กรธุรกิจ สามารถนำแนวคิด The Sphere of Sustainability ไปใช้ในการค้นหามณฑลแห่งความยั่งยืนขององค์กรตนเอง โดยเริ่มจากการระบุเรื่องที่อยู่ในความสนใจของผู้มีส่วนได้เสีย สิ่งที่เป็นความคาดหวัง (Expectations) ต่อการดำเนินงานในเรื่องนั้น และวิธีการเพื่อให้เกิดเป็นผลการดำเนินงาน (Performance) ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสียบนพื้นฐานของความคาดหวังดังกล่าว”

โดยหนังสือ “มณฑลแห่งความยั่งยืน : The Sphere of Sustainability” ที่สถาบันไทยพัฒน์ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นคู่มือในการไขความเข้าใจและความสัมพันธ์ระหว่างเรื่อง CG, ESG, CSR, CSV, SD, SE, SB อย่างเป็นระบบ มุ่งเน้นให้เกิดความเข้าใจต่อแนวคิดในเรื่องความยั่งยืนที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่ม และให้กิจการนำแนวคิดดังกล่าวไปปฏิบัติ จนสามารถบรรลุเป้าหมายปลายทางที่เป็นความยั่งยืนของกิจการ

ผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับหนังสือ มณฑลแห่งความยั่งยืน: The Sphere of Sustainability ได้ฟรี ที่สถาบันไทยพัฒน์ หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.thaipat.org



6 ทิศทาง CSR ปี 2561


1. New CG Code
จากการสร้างความเชื่อมั่น (Building Confidence) สู่การสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน (Creating Sustainable Value)
ปี 2561 จะเป็นปีที่แนวคิดหลักขององค์กรในเรื่องการกำกับดูแลกิจการ จะเปลี่ยนผ่านจากการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุน ที่เน้นประโยชน์ของกลุ่มผู้ถือหุ้นเป็นหลัก ไปสู่การสร้างคุณค่าให้กิจการอย่างยั่งยืน ที่เน้นประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย ซึ่งทำให้บริษัทจดทะเบียนต้องเพิ่มน้ำหนักความสำคัญในปัจจัยที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยน ทั้งความเข้าใจของคณะกรรมการในบริบทธุรกิจ ความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย โอกาสและความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อการดำเนินกิจการ เป็นต้น

2. First ESG Code
ก้าวสู่ธรรมาภิบาลการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตลอดกระบวนการลงทุน (Investment Chain)
หลักธรรมาภิบาลการลงทุน สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน (Investment Governance Code: I Code) จะเพิ่มแรงผลักดันจากผู้มีส่วนร่วมในตลาด (Market Force) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้ลงทุนสถาบัน ต่อกิจการที่เข้าไปลงทุน ให้มีการพิจารณาดำเนินการในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ที่เข้มข้นยิ่งขึ้น โดยผู้ลงทุนสถาบันสามารถผลักดันให้มีการปรับปรุงแก้ไข หากกิจการนั้นมีประเด็นปัญหาในเรื่องดังกล่าวได้

3. GRI First Standards
จากแนวทาง (Guidelines) สู่มาตรฐาน (Standards) การรายงานแห่งความยั่งยืน
นับจากกลางปี 2561 มาตรฐานการรายงานขององค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) จะมีผลบังคับใช้กับองค์กรที่มีการจัดทำรายงานตามแนวทางของ GRI ทำให้องค์กรที่เคยมีการจัดทำรายงานตามแนวทาง GRI ในฉบับก่อนหน้า (ฉบับ G4) จะต้องปรับเปลี่ยนมาเป็นการอ้างอิงตามมาตรฐาน GRI ตั้งแต่รอบการรายงานปี 2561 เป็นต้นไป

4. New SDG Business Blueprint
จากการสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือ (Partnership) สู่การพัฒนาการนำองค์กร (Leadership)
องค์กรธุรกิจที่นำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) มาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ นอกจากจะมีการสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือ (Partnership) ในระดับห่วงโซ่ธุรกิจ เพื่อการขับเคลื่อน SDGs แล้ว ยังจะมีการพัฒนาการนำองค์กร (Leadership) ในระดับอุตสาหกรรม เพื่อการบรรลุ SDGs ด้วย

5. Shared Value Innovation
จากเสียงขานรับให้ประกอบการ (License to Operate) สู่เสียงขานรับให้เติบใหญ่ (License to Grow)
กิจการที่ต้องการได้รับ License to Grow จะมีการคิดค้นออกแบบนวัตกรรมคุณค่าร่วม (Shared Value Innovation) เพื่อส่งมอบประโยชน์ที่ทั้งธุรกิจและสังคมจะได้รับจากการขยายกิจการหรือการเติบโตของธุรกิจที่ดำเนินการอยู่อย่างเป็นแบบแผนมากขึ้น ทั้งการผนวกความมุ่งประสงค์ทางสังคมเข้ากับจุดยืนทางการแข่งขัน ขีดความสามารถที่มีในการตอบสนองต่อสิ่งที่สังคมต้องการ โครงสร้างการพัฒนานวัตกรรม การแสวงหาหุ้นส่วนการสร้างคุณค่าร่วมที่เหมาะสม และการวัดคุณค่าร่วมที่ส่งมอบ เป็นต้น

6. Corporate Digizenship
จากภูมิทัศน์ (Landscape) สู่ดิจิทัศน์ (Digiscape) การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ
ผู้ประกอบการที่เกี่ยวโยงกับห่วงโซ่ธุรกิจดิจิทัลทั้งทางตรงและทางอ้อม จะต้องแสดงให้เห็นถึงการประกอบธุรกิจที่มีความรับผิดชอบในความเป็นดิจิทัลของกิจการ หรือ Corporate Digizenship อาทิ การมีนโยบายและมาตรการในการป้องกันและรับมือกับภัยหรือความเสียหายทางดิจิทัล การรับประกันและการเยียวยาความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งการจัดทำแผนฉุกเฉินหรือแผนสำรองเพื่อบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ ในกรณีที่มีอุบัติการณ์หรือวิกฤตจากเหตุดิจิทัลเกิดขึ้น


[Original Link]