Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ทำดี ได้ตังค์ ด้วย “ESG”


สำหรับบริษัทมหาชนที่สนใจเรื่องการทำดี (do good) และทำเงิน (make money) ไปด้วยกัน คงปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG (environmental, social and governance) ได้ทวีบทบาทต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะในต่างประเทศ กระแสเรื่อง ESGถูกหยิบยกมาเป็นวาระสำคัญ ทั้งจากผู้ลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ บริษัทจัดการลงทุน บริษัทจัดอันดับ หน่วยงานกำกับดูแล องค์กรภาคประชาสังคม ฯลฯ

ทั้งนั้น เพื่อผลักดันให้บริษัทมหาชนเหล่านั้นนำเรื่อง ESG ไปผนวกอยู่ในกระบวนการตัดสินใจและดำเนินงานทางธุรกิจ

ด้วยเหตุนี้ บุคลากรในองค์กร ไล่เรียงตั้งแต่คณะกรรมการบริษัท ฝ่ายบริหาร และเจ้าหน้าที่ในแต่ละสายงาน จำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจบทบาทของเรื่อง ESG ที่มีต่องานที่ตนรับผิดชอบและที่เข้าไปเกี่ยวข้อง รวมทั้งผลกระทบต่อองค์กร ทั้งในแง่ของการตัดสินใจที่จะดำเนินการ หรือไม่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว

แง่มุมของเรื่อง ESG ที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ ประกอบด้วย มุมมองต่อการใช้ ESG ในการลงทุน (ESG investing) มุมมองต่อการประเมิน ESG ในการจัดอันดับ (ESG ratings) และมุมมองต่อการใช้ ESG เป็นประเด็นเคลื่อนไหว (ESG activism)

ในแง่ของการใช้ ESG ในการลงทุน หรือ ESG investing มีข้อมูลตัวเลขขนาดของสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) จากรายงานการลงทุนที่เน้น ESG ในปัจจุบันว่า มีอยู่ราว 20 ล้านล้านเหรียญ การเปิดกองทุนรวม ESG และกองทุนเปิด ESG ที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (ETF) โดยเฉพาะในตลาดทุนฝั่งยุโรปและอเมริกา กลายเป็นเรื่องปกติ และเพิ่มจำนวนถี่ขึ้น

ตอบรับกับผลการศึกษาที่ว่า ผู้ลงทุนกลุ่ม millennials (มีอายุระหว่าง 18-34 ปี) ให้ความสำคัญกับการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม (และสิ่งแวดล้อม) ทำให้บริษัทจดทะเบียนที่เป็นเป้าหมายการลงทุน จำเป็นต้องมีการดำเนินงานที่ผ่านเกณฑ์ หรือมีความโดดเด่นด้าน ESG ควบคู่กับการสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนที่มิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป

ในแง่ของการประเมิน ESG ต่อการจัดอันดับ หรือ ESG ratings ปัจจุบัน ความต้องการข้อมูล ESG ของบริษัทจดทะเบียน กลายเป็นสิ่งที่ผู้ลงทุนสถาบัน บริษัทจัดการลงทุน รวมทั้งผู้จัดทำและให้บริการดัชนีสำหรับการลงทุน จำเป็นต้องมีไว้ใช้ในการวิเคราะห์และประเมินเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน เพื่อออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และจัดทำดัชนีอ้างอิงด้าน ESG ตามลำดับ

ในปี 2560 Morningstar บริษัทวิจัยและจัดการลงทุน เข้าซื้อหุ้นจำนวน 40% ของ Sustainalytics บริษัทวิจัยข้อมูล ESG ชั้นนำ เพื่อต้องการเข้าถึงข้อมูล ESG สำหรับการขยายบริการในด้านดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้ ISS ผู้ให้บริการลงทุน ได้ซื้อ IW Financial บริษัทวิจัย ให้คำปรึกษา และให้บริการดูแลพอร์ตการลงทุน ESG เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและเพิ่มผลตอบแทนให้แก่ลูกค้า

ขณะที่ S&P Dow Jones ได้เข้าครอบครองกิจการของ Trucost บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการประเมินข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนมากว่า 15 ปี ส่วน MSCI ได้เข้าซื้อ RiskMetrics Group บริษัทจัดการความเสี่ยงและผู้ให้บริการงานด้านบรรษัทภิบาลชั้นนำ เพื่อยกระดับเครื่องมือสนับสนุนการตัดสินใจลงทุนให้แก่สถาบันการเงินทั่วโลก และอีกดีลหนึ่งเป็นกรณีที่ Thomson Reuters เข้าซื้อกิจการ Asset4 ผู้ให้บริการข้อมูลด้านบรรษัทภิบาลและข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาฐานข้อมูล ESG เพิ่มเติมให้แก่ลูกค้า

ในแง่ของการใช้ ESG เป็นประเด็นเคลื่อนไหว หรือ ESG activism มีได้หลายรูปแบบ อาทิ การใช้อำนาจของผู้ถือหุ้นในการแทรกแซงบทบาทของกิจการ ผ่านการสานสัมพันธ์กับกิจการโดยตรง (corporate engagement and shareholder action) โดยทำหนังสือถึงคณะกรรมการบริษัท และ/หรือสื่อสารกับผู้บริหารระดับสูง การเสนอหรือร่วมจัดทำข้อเสนอ ESG ในฐานะผู้ถือหุ้น (ESG shareholder proposals) โดยการเสนอเป็นวาระการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น รวมถึงการออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อให้บริษัทรับข้อเสนอ ESG ไปดำเนินการ

จากข้อมูลของ ISS (Institutional Shareholder Services) บริษัทที่ปรึกษาผู้รับมอบอำนาจให้ออกเสียงแทนผู้ถือหุ้น (Proxy Advisory Firm) ระบุว่า มีการจัดทำข้อเสนอ ESG ของผู้ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 53.4 (ในระหว่างปี ค.ศ. 2017) และร้อยละ 54.4 (ตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 2018-ปัจจุบัน) เมื่อเทียบกับการจัดทำข้อเสนอทั้งหมดของผู้ถือหุ้น ที่มีต่อบริษัทในสหรัฐอเมริกา โดยมีค่ากลางของผลการออกเสียงลงคะแนน (median vote results) อยู่ที่ร้อยละ 23.4 ซึ่งบางประเด็นมีค่าสูงถึงร้อยละ 41.4 ในเรื่อง sustainability reporting และร้อยละ 36.4 ในเรื่อง workforce diversity เป็นต้น

สำหรับในประเทศไทย พัฒนาการเรื่อง ESG ดำเนินรอยตามความเคลื่อนไหวในต่างประเทศ สถาบันการเงินและบริษัทจัดการลงทุนของไทย มีการออกตราสารหนี้และกองทุน ESG เพื่อการลงทุนในวงกว้าง มีหน่วยงานที่จัดทำข้อมูล และการประเมิน ESG ในการจัดอันดับ รวมทั้งการจัดทำดัชนี ESG เพื่อใช้อ้างอิงสำหรับการลงทุนและใช้เปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุน

ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแล (ก.ล.ต.) มีการออกหลักธรรมาภิบาลการลงทุน(I code) เพื่อส่งเสริมเรื่อง ESG (หลักปฏิบัติ 3.3) และมาตรการดำเนินการเพิ่มเติม (หลักปฏิบัติ 4.4) เพื่อสนับสนุนเรื่อง crporate engagement and shareholder action อย่างเป็นขั้นเป็นตอน

แน่นอนว่าบริษัทที่ตอบรับในเรื่องดังกล่าวจะสามารถได้ประโยชน์จากความเคลื่อนไหวในเรื่อง ESG ที่มีทั้งต่อตัวองค์กรเอง และต่อผู้ถือหุ้นของกิจการ รวมทั้งสังคม และสิ่งแวดล้อมโดยรวม


[Original Link]