Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

Thaipat ESG Index สร้างความยั่งยืนเทียบชั้นดัชนีโลก



นับตั้งแต่ปี 2558 ที่สถาบันไทยพัฒน์ได้จัดทำ ESG100 ซึ่งเป็นรายชื่อหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน ESG (environmental, social, governance) จำนวน 100 บริษัท โดยได้รับความสนใจจากนักลงทุนสำหรับใช้เป็นเครื่องมือตัดสินใจการลงทุนเป็นอย่างมาก

จากความสำเร็จดังกล่าว สถาบันได้ต่อยอดทำ Thaipat ESG Index โดยร่วมกับ S&P Dow Jones คำนวณและเผยแพร่ข้อมูลดัชนีผ่านหน้าจอ Bloomberg และ Reuters ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วโลก ซึ่งดำเนินการในปีนี้เป็นปีแรก และได้หุ้นเด่น 58 ตัวที่ตอบโจทย์ทั้งด้าน ESG และด้านผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนที่ไม่ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป


ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ” ประธานสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า ESG เป็นคำที่ใช้ในตลาดทุน โดยผู้ลงทุนใช้เพื่อประเมินการดำเนินงานของบริษัทต่าง ๆ ทำให้ล่วงรู้ถึงผลประกอบการในอนาคตของบริษัท ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการประกอบการมาจากบทบาทของบริษัทที่มีต่อเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ภายใต้บริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน

“สถาบันเล็งเห็นว่า หากรวบรวมรายชื่อหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน ESG เพื่อให้นักลงทุนใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการเปรียบเทียบ (benchmark) จะเป็นการช่วยพัฒนาบริษัทน้ำดี สร้างผลเชิงบวกให้กับสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ในช่วงแรกจึงได้ริเริ่มทำ ESG rating หุ้น 100 ตัวในปี 2558 ซึ่งจัดทำโดยหน่วยงานหนึ่งของสถาบัน หลังจากประสบความสำเร็จเราจึงแตกออกมาเป็นบริษัท อีเอสจี เรตติ้ง จำกัด ในปี 2559 เพราะต้องการใช้บริษัทนี้เป็นหัวหอกหลักในการประเมิน ESG ให้กับบริษัทจดทะเบียน และบริษัทจัดการกองทุนต่าง ๆ ที่สนใจข้อมูล ESG”

“จากการจัดทำ ESG100 มาแล้ว 4 ปี เราเริ่มมีฐานข้อมูลมากพอ จึงอยากยกระดับการคัดหุ้นที่มีสภาพคล่องพอในการซื้อขายทางการตลาดได้ ทำให้ได้ข้อตกลงว่าจะสร้าง Thaipat ESG Index ขึ้นมา แต่ด้วยความที่เราไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องการคำนวณดัชนีแต่แรก จึงมองหาพาร์ตเนอร์ และได้ S&P Dow Jones มาร่วมงานด้วย ซึ่งเขาเป็นผู้ทำดัชนีชื่อดังระดับโลกอย่าง DJSI หรือ Dow Jones Sustainability Index”

ระเบียบวิธีการปฏิบัติของ Thaipat ESG Index คือ คัดเลือกหุ้นจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ทั้งหมด 683 ตัว มาผ่านกระบวนการประเมิน ESG rating ในแบบ in-tegrate ที่ดูทั้งเรื่องการวิเคราะห์อุตสาหกรรม กลยุทธ์องค์กร และรายงานทางการเงิน แล้วเขย่าให้เหลือ 100 ตัว โดยเรียกว่า investment universe และจากนั้นมาถูกกรองอีกขั้นด้วยเกณฑ์สภาพคล่องพอในการซื้อขายทางการตลาด

โดยได้หุ้นโดดเด่นมาทั้งหมด 58 ตัว เช่น ADVANC, LPN, PTTEP, CPN ซึ่งไม่ได้กำหนดตายตัวว่าต้องเป็น 58 ตัวในทุกปี จะน้อยลงหรือเพิ่มขึ้นก็ได้ แล้วแต่จำนวนหุ้นที่ผ่านเกณฑ์ในปีนั้น ๆ โดย S&P Dow Jones เริ่มฟีตข้อมูล Thaipat ESG Index ให้กับคนทั่วโลกตั้งแต่ 10 ก.ย. 2561 ผ่านทางหน้าจอ Bloomberg และ Reuters

“ดร.พิพัฒน์” อธิบายว่า โดยปกติแล้วดัชนีหลักทรัพย์ที่มีอยู่ทั่วโลกมีวิธีการคำนวณหลาย ๆ แบบ ซึ่งแบบหลัก ๆ ที่ใช้กันจะมี price weighted index คือ การดูแต่ราคาอย่างเดียว ไม่ดูจำนวนหุ้นหรือขนาด และ market capitali-zation weighted ที่ดูมูลค่าการตลาดของหุ้นแต่ละตัว และมีทิศทางเป็นไปตามหุ้นที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งดัชนีจะไม่สะวิงมาก

เราพบข้อเท็จจริงว่า ไม่ใช่เฉพาะบริษัทใหญ่เท่านั้นที่มีเรื่องของ ESG ที่ดี เพราะบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กผ่านเกณฑ์ประเมินของเราเข้ามาในสัดส่วนพอสมควร เราจึงเลือกใช้วิธีการคำนวณที่เรียกว่า equal weighted index (ชนิดถ่วงน้ำหนักเท่ากัน) Thaipat ESG นับเป็นดัชนีแรกในตลาดทุนไทยที่ใช้การคำนวณแบบนี้

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ MSCI (Morgan Stanley Capital International) ซึ่งเป็นบริษัททำดัชนีราคาหุ้นชั้นนำของโลก ระบุว่า ความเคลื่อนไหวของดัชนี MSCI ชนิดถ่วงน้ำหนักเท่ากัน ในช่วง ธ.ค. 2543 ถึงกลางปี 2558 ให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีชนิดถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าตามราคาตลาดอย่างมีนัยสำคัญ เราจึงให้ความสำคัญกับหุ้นที่มีขนาดกลางและเล็กที่มีผลสะท้อนต่อตัวดัชนีเท่าขนาดหุ้นตัวใหญ่

สำหรับการคำนวณดัชนี Thaipat ESG Index ใช้ค่าฐาน (base date) นับตั้งแต่ที่เราประกาศ ESG100 ในปีแรกเมื่อ 30 มิ.ย. 2558 โดยกำหนดค่าฐานที่ 100 จุด และชุดดัชนีประกอบด้วยดัชนีผลตอบแทนราคา (price return) ดัชนีผลตอบแทนรวม (total return) และดัชนีผลตอบแทนรวมสุทธิ (net total return)

“ดร.พิพัฒน์” กล่าวด้วยว่า ก่อนที่จะมีดัชนี Thaipat ESG เริ่มมีคนสนใจ ESG100 จำนวนมาก เพราะเริ่มเป็นที่รับรู้ว่าให้ผลตอบแทนดีไม่แพ้ดัชนีอื่น ๆ โดยเรามีหลักฐานเชิงประจักษ์จากการเปรียบเทียบกับดัชนี SET50, SET100 และ DJSEMUN (DJSI emerging markets) ที่ผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี 3 เดือนของ Thaipat ESG มีผลตอบแทนรวมอยู่ที่ 36.60%, ผลตอบแทนรายปีอยู่ที่ 10.07%

ในขณะที่ SET50 มีผลตอบแทนรวมและผลตอบแทนรายปีอยู่ที่ 30.13% และ 8.44% ตามลำดับ ส่วน SET100 มีผลตอบแทนรวมและผลตอบแทนรายปีอยู่ที่ 30.02% และ 8.41% ตามลำดับ และ DJSEMUN มีผลตอบแทนรวมและผลตอบแทนรายปีอยู่ที่ 21.16% และ 6.08% ตามลำดับ

“นับตั้งแต่ที่เราเปิด ESG100 ครั้งแรก ได้มีโอกาสหารือกับบริษัทจัดการกองทุน เพื่อส่งเสริมหุ้นน้ำดีไปตั้งเป็นกองทุนรวม โดย บลจ.ทิสโก้ มีความสนใจและได้นำ ESG100 ในตอนนั้นไปเลือกหุ้น เพื่อตั้งเป็นกองทุนรวมที่เรียกว่า Tisco ESG Investment Fund for Society หรือทิสโก้ ESG เพื่อสังคมเมื่อเดือน ต.ค. 2558 ปรากฏว่าผลตอบแทนของกองนี้อยู่ที่ประมาณ 10% ดังนั้น จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า หุ้นที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน ESG ที่ผ่านการคัดเลือกของเราสามารถทำผลกำไรให้นักลงทุนได้ไม่แพ้หุ้นทั่วไป”

“หลังจากที่เราทำ Thaipat ESG Index ในปีนี้ เราต้องการเผยแพร่ข้อมูลให้กับบรรดากองทุนต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้จำกัดว่าต้องอยู่ภายใต้การบริหารของ บลจ. โดยบริษัททั่วไปที่ตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถใช้ข้อมูลของเราในการตัดสินใจได้ ซึ่งแน่นอนว่าการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง แต่ด้วยการจัดองค์ประกอบของ Thaipat ESG Index จะช่วยลดความผันผวนได้มาก”

ดังนั้น Thaipat ESG Index จึงตอบโจทย์การลงทุนอย่างยั่งยืน เพราะ บลจ.สามารถนำ ESG Index ไปใช้เป็นดัชนีอ้างอิงในการลงทุนในพอร์ต และเป็นทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการลงทุนในหุ้นที่มีความยั่งยืนได้อีกด้วย


[Original Link]