Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

Value x Impact พลังสร้างความยั่งยืนสู่กิจการ


หลังจากที่ “สถาบันไทยพัฒน์” มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เปิด` “ร้านค้าความยั่งยืน (Sustainability Store)” ที่รวบรวมเอาเครื่องมือ และประสบการณ์ที่มีส่วนในการขับเคลื่อนการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) และการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมกับภาคเอกชน มาช่วยยกระดับองค์กรธุรกิจไทยให้ก้าวสู่ความยั่งยืน ที่ประกอบด้วย การจัดทำกรอบความยั่งยืน (S-Framework), การประเมินระดับความยั่งยืน (S-Score) และ การวางกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งรายงานความยั่งยืน (S-Report)

ล่าสุด สถาบันไทยพัฒน์ได้เปิดตัวบริการใหม่ภายใต้ร้านค้าความยั่งยืน ได้แก่ “การสร้างคุณค่าแห่งความยั่งยืน (S-Value)” และ “การสร้างผลกระทบแห่งความยั่งยืน (S-Impact)” เพื่อก่อให้เกิดเป็น “พลังแห่งความยั่งยืน (Power of Sustainability)” ที่เป็นหนทางการยกระดับการทำซีเอสอาร์ ในบริบทที่นำไปสู่ความยั่งยืน และช่วยเสริมสร้างผลประกอบการในระยะยาวให้แก่กิจการรูปแบบของบริการ S-Value และ S-Impact เป็นการนำเครื่องมือ “value driver model (VDM)” และ “impact management (IM)” มาตอบสนองความต้องการของหน่วยงาน หรือองค์กรที่สนใจ เพื่อช่วยสนับสนุนให้เกิดการสร้างคุณค่า และผลกระทบจากการขับเคลื่อนความยั่งยืนของกิจการ โดยกลุ่มเป้าหมายจะเป็นหน่วยงานหรือองค์กรที่ต้องการวัดผลได้ภายใน (internal benefit) ที่จะเกิดขึ้นด้วยบริการ S-Value และต้องการวัดผลได้ภายนอก (external benefit) ที่จะเกิดกับสังคม หรือกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ด้วยบริการ S-Impact


3 มิติสร้างคุณค่ายั่งยืน
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ” ประธานสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวถึงที่มาของการสร้างคุณค่าแห่งความยั่งยืน (S-Value) ว่า กิจการที่ตระหนักในเรื่องความยั่งยืน ต่างมองหาแนวทางในการประเมินคุณค่าทางธุรกิจที่เกิดจากการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ทั้งในประเด็นสิ่งแวดล้อม, สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance : ESG) ที่เกี่ยวเนื่องกับผลทางการเงิน เพื่อให้ได้ภาพความสัมพันธ์ระหว่างคุณค่ากับความยั่งยืนที่อธิบายได้ แม้ว่าการดำเนินงานในด้านความยั่งยืนเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ต่อตัวเลขผลประกอบการ แต่การดำเนินกลยุทธ์ธุรกิจที่ยั่งยืนเป็นการผนวกเรื่องความยั่งยืนเข้ากับธุรกิจ ที่ส่งผลโดยตรงต่อการประกอบการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

“หลายกิจการมองประเด็นความยั่งยืนเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจที่ต้องบริหารจัดการ ขณะที่กิจการจำนวนหนึ่งมองเรื่องความยั่งยืนเป็นโอกาสทางธุรกิจ ที่ผลักดันให้เกิดการสร้างผลกำไรและการเติบโต จากความต้องการในผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และลดการทำลายสภาพแวดล้อมทั้งในเชิงกายภาพและในเชิงสังคม ทำให้ผลลัพธ์จากปรับเปลี่ยนวิถีดังกล่าวเกิดการขับเคลื่อนกลยุทธ์ธุรกิจที่ยั่งยืนอย่างมีประสิทธิผล”

“อีกทั้งหน่วยงาน UN Global Compact และ UN-supported Principles for Responsible Investment (PRI) ได้ร่วมกันพัฒนาเครื่องมือ VDM ที่บริษัทสามารถใช้ประเมินและสื่อสารถึงผลกระทบที่แสดงเป็นตัวเลขทางการเงิน จากการดำเนินกลยุทธ์ธุรกิจที่ยั่งยืน ด้วยการเลือกใช้ตัววัดที่มีนัยสำคัญต่อผลประกอบการทางการเงินในสามมิติ ได้แก่ มิติการเติบโตของรายได้ จากผลิตภัณฑ์ บริการ และ/หรือ กลยุทธ์ที่ใช้เรื่องความยั่งยืนเป็นฐานในการพัฒนา (Sustainability-Growth หรือ S/G) มิติการประหยัดต้นทุน จากการดำเนินงานปรับปรุงผลิตภาพ ที่ขับเคลื่อนด้วยความริเริ่มด้านความยั่งยืน (Sustainability-Productivity หรือ S/P) และมิติการลดความเสี่ยง ที่เกี่ยวเนื่องกับความยั่งยืน ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อผลประกอบการขององค์กรอย่างมีนัยสำคัญ (Sustainabil-ity-Risk Management หรือ S/R)”

5 เครื่องมือเข้าใจผลกระทบ
ขณะที่แนวคิดการสร้างผลกระทบแห่งความยั่งยืน (S-Impact) นั้น “ดร.พิพัฒน์” กล่าวเพิ่มเติมว่า เกิดจากการที่ทุกกิจการต่างส่งผลต่อผู้คนและโลกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้งที่เป็นผลบวกและผลลบ ทั้งที่เจตนาและไม่เจตนา

“แรงจูงใจในการจัดการผลกระทบจะมีความแตกต่างกันออกไป กิจการบางกลุ่มมุ่งมั่นที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อผู้คนและโลกให้ดีขึ้น ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งดำเนินการเพราะกังวลว่าจะเกิดความเสี่ยงในด้านชื่อเสียง และในด้านกฎระเบียบหากไม่ปฏิบัติตาม และบางกลุ่มเห็นเป็นโอกาสในการสร้างคุณค่าในเชิงพาณิชย์ เช่น การลดค่าใช้จ่ายด้วยการประหยัดพลังงาน, การเพิ่มอัตราการคงอยู่ของแรงงาน หรือความภักดีของลูกค้า ส่วนบางกลุ่มเชื่อว่าธุรกิจควรเคารพต่อสังคม และต้องการยึดมั่นกับมโนคตินั้น”

“ด้วยความหลากหลายนี้เอง เจตจำนงของกิจการจึงมีพิสัยครอบคลุมที่มาจากข้อผูกมัดกว้าง ๆ อาทิ เพื่อบรรเทาความเสี่ยง เพื่อบรรลุผลทางการเงินที่ยั่งยืนในระยะยาว หรือเพื่อฝากรอยประทับด้านบวกบนโลก ไปจนถึงการให้วัตถุประสงค์ละเอียด จึงทำให้เกิดคำถามที่ว่า กิจการจะสามารถระบุได้อย่างไรว่า ผลที่สร้างขึ้นอันไหนที่มีความสำคัญ และข้อมูลอะไรที่กิจการสามารถรวบรวมเพื่อประเมินสมรรถนะของผลที่มีความสำคัญเหล่านั้น”

“ทั้งนั้น องค์กรสามารถระบุผลที่สำคัญได้ และนำไปสู่การบริหารจัดการผลนั้น ๆ ได้ ด้วยการประเมินผลกระทบใน 5 มิติ ผ่านทางเครื่องมือ impact management ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของหลายฝ่าย ภายใต้กลุ่ม IMP (Impact Management Project) ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันขององค์กรจัดทำมาตรฐานชั้นนำหลายแห่ง อาทิ UNDP, OECD, GRI โดยมิติเหล่านี้สามารถใช้เป็นกรอบในการทำความเข้าใจถึงผลที่เป็นผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม”

ใช้ VDM สำรวจคุณค่าองค์กร
ส่วนการนำเอาเครื่องมือทั้ง 2 ไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินธุรกิจ และการดำเนินความยั่งยืนของกิจการนั้น “ดร.พิพัฒน์” กล่าวว่า องค์กรหรือบริษัทสามารถนำเครื่องมือ VDM มาใช้ด้วยการเริ่มจากการสำรวจสิ่งที่องค์กรดำเนินการ ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับความยั่งยืน ตามมิติที่เครื่องมือ VDM แนะนำใน 3 มิติ เพื่อระบุถึงช่องว่างที่องค์กรยังมิได้ดำเนินการ หรือที่สามารถดำเนินการได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่

“หนึ่ง มิติการเติบโตของรายได้ที่เกิดจากการใช้ประเด็นความยั่งยืนให้เป็นประโยชน์ นัยการดำเนินงานสองรายการที่สำคัญ คือ คุณภาพของรายได้ในปัจจุบันที่มาจากเรื่องความยั่งยืน และอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงความยั่งยืน เทียบกับการเติบโตโดยรวมของกิจการ”

“สอง มิติการประหยัดต้นทุนที่เกิดจากการขับเคลื่อนด้วยประเด็นความยั่งยืน นัยการดำเนินงานที่สำคัญ คือ ผลรวมของการประหยัดต้นทุน และ/หรือค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงได้ รวมถึงผลได้ทางตรงอื่น ๆ ที่เกิดจากการดำเนินกลยุทธ์ธุรกิจที่ยั่งยืนของกิจการ”

“และสาม มิติการลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน นัยการดำเนินงานที่สำคัญ คือ รายการความเสี่ยงที่ถูกจัดว่าเป็นประเด็นสาระสำคัญต่อธุรกิจ ทั้งในแง่ของรายได้และชื่อเสียงของกิจการ ทั้งนี้ ผู้ลงทุนยังต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงเชิงสัมพัทธ์ในมาตรวัดที่เป็นความเข้มของความเสี่ยงในมิติต่าง ๆ ด้วย”

ใช้ IM ประเมินผลกระทบ
“ด้านเครื่องมือ IM นั้น องค์กร/บริษัทสามารถนำมาใช้ด้วยการประเมินผลกระทบใน 5 มิติ ได้แก่ มิติ what มีผลลัพธ์อะไรที่สัมพันธ์กับผลที่สร้างขึ้นจากกิจการ และมีความสำคัญอย่างไรต่อผู้คนและโลก, มิติ who ใครบ้างที่เป็นผู้ได้รับผล และเป็นกลุ่มผู้ที่ต้องการผลลัพธ์นี้มากน้อยเพียงใด, มิติ how much ผลที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวมีนัยสำคัญมากน้อยเพียงใด, มิติ contribution กิจการมีส่วนในผลที่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด และมิติ risk มีความเสี่ยงอะไรและอย่างไรต่อผู้คนและโลก หากผลไม่เป็นไปดังหวัง”

“ไม่เพียงเท่านี้ องค์กร/บริษัทพึงระลึกว่า ผลที่มีนัยสำคัญมิได้เกิดจากการจ้างงานหรือผลิตภัณฑ์และบริการที่กิจการส่งมอบเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสายการจัดจำหน่าย แหล่งดำเนินการ หรือสายอุปทานของกิจการ ที่ในหลายกรณีมีผลกระทบสำคัญ ไม่น้อยกว่าที่กิจการดำเนินการเองโดยลำพัง รวมทั้งกิจการไม่สามารถแลก (trade-off) การก่อผลกระทบทางลบบางเรื่อง ด้วยการสร้างผลกระทบทางบวกอีกเรื่องหนึ่งทดแทน หรือกิจการไม่สามารถเลือกสร้างผลกระทบทางบวก โดยเพิกเฉยต่อผลกระทบทางลบที่ติดตามมาจากการดำเนินการนั้น”

VDM+IM สร้างรายได้ทีี่ยั่งยืน
ถึงตรงนี้ “ดร.พิพัฒน์” บอกว่า บริการ S-Value ที่ใช้เครื่องมือ VDM และบริการ S-Impact ที่ใช้เครื่องมือ IM เมื่อองค์กร/บริษัท ใช้ร่วมกันจะช่วยให้เกิดคุณค่าภายในและผลกระทบภายนอก ในรูปของผลได้รวม (total benefit) ที่ก่อให้เกิดเป็นพลังแห่งความยั่งยืนจากการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนได้อย่างรอบด้าน

“อย่างไรก็ตาม สถาบันไทยพัฒน์ตั้งเป้าที่จะขยายจำนวนหน่วยงาน และองค์กรให้มีการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนเพิ่มขึ้น โดยได้มีการจัดตั้งเครือข่ายที่เรียกว่า “Sustainability Disclosure Community” ขึ้น เพื่อใช้เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อดำรงบทบาทการเป็นผู้นำของภาคเอกชนไทย ต่อการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนทั้งในประชาคมระดับภูมิภาคและระดับสากล”

ทั้งยังเพื่อช่วยองค์กรยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน รวมทั้งการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งปัจจุบันมีองค์กรที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกแล้วจำนวน 50 ราย (ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก) อันเป็นการยกระดับการทำซีเอสอาร์ เพื่อก่อให้เกิดเป็นพลังแห่งความยั่งยืนให้แก่กิจการและสังคมโดยรวมต่อไป


[Original Link]