Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ทิศทางความยั่งยืน ปี’63

เศรษฐกิจติดเกาะ-สิ่งแวดล้อมแปรปรวน



    Photography/Avalon/Getty Images

หลังจากเริ่มต้นศักราชใหม่ปี 2563 ไปเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งไม่แปลกที่คนส่วนใหญ่จะตั้งความหวังในหลาย ๆ เรื่องเพื่อให้พบกับสิ่งใหม่ ๆ ที่ดี ๆ นับแต่นี้ไป ส่วนสิ่งเก่า ๆ ที่ไม่ดีก็ปล่อยให้ล่วงไปกับปีเก่าผ่านมา แต่กระนั้น “ความคาดหวัง” กับ “ความเป็นจริง” อาจมี “ข้อแตกต่าง” กันอยู่บ้าง และปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปีใหม่นี้ยังอาศัยเหตุปัจจัยที่มีมาก่อนแล้วในปีก่อน และเหตุปัจจัยที่จะสร้างขึ้นใหม่ในปีนี้เพื่อนำมาผนวกเข้าด้วยกัน

โดยเฉพาะ “การสืบสาว” และ “ทำความเข้าใจ” กับ “เหตุปัจจัย” ดังกล่าวที่จะเอื้อให้สามารถคาดการณ์สิ่งต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น และพิจารณาสร้างเหตุปัจจัยใหม่เพื่อโน้มนำให้ผลเป็นไปดังหวัง หรือให้ใกล้เคียงกับที่ต้องการมากที่สุด อย่างในปีที่ผ่านมา การสร้างเหตุปัจจัยที่เกี่ยวกับ “ความยั่งยืน” ที่หวังให้เกิดดอกออกผลในปีใหม่นี้

ไม่ว่าจะเรื่องสังคมคุณภาพชีวิตที่มีกระแสการแบน 3 สารเคมีเกษตรที่ยังไม่สะเด็ดน้ำ, ด้านสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) หรือแม้แต่ในด้านเศรษฐกิจ ดังตัวอย่างแคมเปญ “ชิม ช้อป ใช้” ที่ไม่สามารถเพิ่มตัวเลขการกระตุ้นเศรษฐกิจเท่าที่ควร

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ “ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ” ประธานสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ฉายภาพความยั่งยืนเพื่อให้มองเห็นทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ประมวลโดยอาศัยเหตุปัจจัยที่มีมาแล้วว่า ในปี 2563 นี้ ทิศทางความยั่งยืนจะประกอบไปด้วยเศรษฐกิจติดเกาะ (stranded economy), สังคมฉาบฉวย (sloppy society) และสิ่งแวดล้อมแปรปรวน (turbulent environment)

“สำหรับเศรษฐกิจติดเกาะ ไปไหนไม่ได้ จะโตก็ไม่โต จะถดถอยก็ไม่ ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายอย่างที่ฉุดรั้งทั้งค่าเงินบาทที่แข็งยาวนาน การท่องเที่ยวที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวโต แต่มูลค่าถูกฉุดด้วยความแข็งค่าของเงินบาท มูลค่าส่งออกที่มาร์จิ้นหดหายจนต้องประคับประคองตัว รวมถึงผลกระทบจากสงครามการค้า และการกีดกันทางการค้าโดยใช้กฎระเบียบและมาตรการต่าง ๆ จากคู่ค้าในแต่ละภูมิภาคที่ทวีความเข้มข้นขึ้นตามการดำเนินนโยบายในลักษณะภูมิภาคนิยม (regionalism) และชาตินิยม (nationalism)”

สภาพการติดเกาะยังเกิดขึ้นกับธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีขนาดตลาดมูลค่ากว่า 7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 43 เมื่อเทียบกับจีดีพีของประเทศ โดยสภาพของเอสเอ็มอีที่ติดเกาะเกิดจากความไม่สามารถในการปรับตัวย้ายฐานกิจการ จากห่วงโซ่คุณค่าเก่าบนฐานแอนะล็อกไปสู่ห่วงโซ่คุณค่าใหม่บนฐานดิจิทัลได้ ห่วงโซ่คุณค่าใหม่บนฐานดิจิทัลในที่นี้หมายถึงคู่ค้า หรือคู่ธุรกิจที่เอสเอ็มอีต้องเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นพันธมิตร เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและทรัพยากรบนฐานดิจิทัล ตัวอย่างของคู่ค้าในห่วงโซ่คุณค่าใหม่ ได้แก่ Facebook ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ที่เข้าถึงผู้ใช้ทั่วโลก Grab ผู้ให้บริการสั่งสินค้าและบริการต่าง ๆ ผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือ Kerry ผู้ให้บริการจัดส่งพัสดุจากหน้าประตูถึงหน้าประตู (door-to-door) เป็นต้น

“จะเห็นว่าวันนี้ร้านอาหารเจ้าดังนับร้อย มียอดขายจากการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่นมากกว่าหน้าร้านโดยไม่จำเป็นต้องขยายพื้นที่ร้าน เพิ่มโต๊ะ หรือเปิดสาขาใหม่ และผู้บริโภคจากทั่วสารทิศสามารถทานอาหารเจ้าดังได้ที่บ้าน ที่ออฟฟิศ โดยไม่จำเป็นต้องฝ่าการจราจรมาทานที่ร้าน เป็นปรากฏการณ์ที่มาพร้อมกับยุคดิจิทัลในแบบฉบับที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจับต้องได้อย่างแท้จริง ส่วนร้านค้าที่ไม่ปรับตัวยังอาศัยแต่ห่วงโซ่คุณค่าเก่า มักจะมองว่าเศรษฐกิจไม่ดี ผู้คนหดหาย ไม่จับจ่าย ไม่มีกำลังซื้อเหมือนก่อน นั่นเป็นเพราะผู้บริโภคทยอยย้ายกำลังการซื้อและการจับจ่ายไปอยู่ในห่วงโซ่คุณค่าใหม่บนฐานดิจิทัลนั่นเอง”

ส่วนในแง่ของประชาชนที่เป็นผู้บริโภคและแรงงานในระบบเศรษฐกิจ สภาพการติดเกาะยังมีประเด็นระดับของเกาะมาเกี่ยวข้อง สะท้อนในเชิงของความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้ของคนที่อยู่เชิงเขา และคนที่อยู่บนยอดเขา ทั้งยังถูกซ้ำเติมด้วยภาระหนี้ครัวเรือนที่ทำให้ขยับไปไหนไม่ได้ รวมทั้งโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุน และการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ประกอบการใหม่ในระบบเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างจำกัด

ขณะที่สังคมฉาบฉวยนั้น “ดร.พิพัฒน์” อธิบายว่า การรู้ลึก รู้จริงในเรื่องที่เกี่ยวข้อง หรือเรื่องที่สนใจ ไม่ได้เป็นเงื่อนไขหลักของการแสดงออกในยุคปัจจุบัน ด้วยความที่ข้อมูลข่าวสารมีอยู่อย่างมากมายเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถประมวลเรื่องได้ครบถ้วนทั่วถึง รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นในระดับปัจเจก สามารถทำผ่านสื่อสังคมออนไลน์โดยไร้ขีดจำกัด จนทำให้ไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งสามารถที่จะกำหนดทิศทาง หรือชี้นำให้สังคมมวลรวมคล้อยตามอย่างเป็นเอกฉันท์ได้ดังแต่ก่อน การแบ่งแยกออกเป็นสองฝักสองฝ่ายจึงเกิดขึ้นโดยง่าย เพราะเมื่อใดที่มีกลุ่มผู้เห็นด้วยทวีจำนวนขึ้น มักจะมีอีกกลุ่มที่เห็นต่างเกิดขึ้นติดตามมา

“บทบาทในการสร้างกระแสสังคม จะไม่มีน้ำหนักสำคัญเท่ากับการหล่อเลี้ยงกระแสในฝ่ายตนให้คงอยู่พร้อมกัน กับช่วงชิงคะแนนจากฝ่ายตรงข้าม (และที่ยังไม่เข้ากับฝ่ายใด) เพิ่มให้ได้มากที่สุด อย่างในสังคมการเมืองที่รัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำ จำต้องจัดการกับปัญหาเฉพาะหน้า การยื่นญัตติ หรือการลงมติในสภา เปลี่ยนจากการพิจารณาที่คุณประโยชน์ (merit) กลายมาเป็นประเด็นแลกเปลี่ยน และต่อรองผลประโยชน์ (interest) ถี่ขึ้นและหนักขึ้น กระทั่งการบริหารจัดการภายในพรรคการเมืองต้องจัดสรรผลประโยชน์ให้แต่ละกลุ่ม แต่ละฝ่าย เหนือประโยชน์ของสังคมส่วนรวม เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิงและไร้ระเบียบกว่าแต่ก่อนมาก”

ด้านภาคธุรกิจ การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมแบบลูบหน้าปะจมูก มีมากกว่าการดูแลป้องกันและแก้ไขปัญหาในแบบยั่งยืน อาทิ ปลูกต้นกล้า-แต่ไม่รักษาป่า, ขยะพลาสติก-เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค-แต่ไม่ปรับพฤติกรรมการผลิตและการบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น

“ในส่วนผู้คนในสังคมจะใช้ความเห็นมากกว่าข้อเท็จจริงมาเป็นเครื่องพิจารณาตัดสินประเด็นต่าง ๆ ด้วยความผิวเผิน การแสดงความเห็นเป็นเพียงการกล่าวอ้าง (quote) จากประโยคของบุคคลอื่นที่ตนเองถูกใจ ซ้ำไปซ้ำมาจนถูกทำให้เชื่อว่าเป็นข้อเท็จจริงหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ ฉะนั้น สังคมได้เคลื่อนเข้าสู่ยุคที่ผู้คนมีแนวโน้มที่จะใฝ่หาความถูกใจก่อนความถูกต้องอย่างเปิดเผย และยิ่งไปกว่านั้นยังพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงหรือยอมละเมิดกฎเกณฑ์ที่วางไว้แต่เดิมเพื่อให้ความถูกใจของตน หรือของกลุ่มได้รับความชอบธรรม แม้จะไม่ถูกต้องก็ตาม”

สุดท้ายเรื่องสิ่งแวดล้อมแปรปรวน “ดร.พิพัฒน์” บอกว่า ประเด็นสารเคมีที่ใช้ในการเกษตรที่มีผลกระทบต่อดิน สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง สถานการณ์หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศล้วนมีที่มาจากมนุษย์เป็นสาเหตุหลัก ทำให้เกิดความแปรปรวนของธาตุทั้ง 4 (ดิน น้ำ ลม ไฟ) ทางธรรมชาติ

ในเมื่อปัญหาไม่แก้ที่เหตุหลัก ธรรมชาติจะโต้กลับด้วยสภาพที่เป็นผลกระทบในทางลบต่อมนุษย์ เนื่องจากความสมดุลเดิมถูกทำให้สูญเสียไป และทุกวันนี้สิ่งแวดล้อมกำลังปรับแต่งสภาวะให้มาอยู่ในสถานะที่เป็นความสมดุลใหม่

“อย่างไรก็ตาม อย่ามัวเสียเวลามาถกเถียงกันว่าใครเป็นตัวการทำให้เศรษฐกิจติดเกาะ สังคมฉาบฉวย และสิ่งแวดล้อมแปรปรวน แต่จุดที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงคือการชี้นิ้วมาหาตนเอง และบอกว่าเราเป็นบุคคลหนึ่งที่ต้องลงมือทำ ไม่ใช่ปัดให้เป็นภาระหน้าที่ของคนอื่น เป็นงานของรัฐ เป็นงานของเอ็นจีโอ หรือผลักเป็นงานของเจ้านาย เป็นงานของลูกน้อง โดยที่ตัวเองไม่ทำอะไรเลย”

“ดังนั้น หากไม่อยากจะเข้าสู่ปีชวดที่ชวดหรือไม่ได้ดังหวัง สิ่งเหล่านี้จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องสร้างเหตุปัจจัยใหม่ในปีนี้ โดยภาคประชาชนต้องทำหน้าที่ (perform) ตนเองอย่างมีประสิทธิผล ภาคธุรกิจต้องดำเนินการเปลี่ยนผ่านหรือแปรรูป (transform) ไปสู่การยกระดับการประกอบธุรกิจที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง และในส่วนของภาครัฐควรต้องมีการปฏิรูป (reform) หน่วยงานอย่างจริงจัง เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง และความคาดหวังของสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ”

ทั้งนี้ หากภาคส่วนต่าง ๆ สามารถสร้างเหตุปัจจัยใหม่ตามแนวทางที่กล่าวมา ก็จะก่อให้เกิดผลจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น สามารถลดทอนเหตุปัจจัยในอดีตที่ก่อให้เกิดผลทางลบ เพื่อให้ปีชวด 2563 นี้จะได้ไม่ชวดดังที่หวังไว้


[Original Link]