Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

สารจากประธาน


ในรอบปี 2562 ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์สำคัญๆ ในแวดวงธุรกิจกับการพัฒนาสู่ความยั่งยืน ที่ควรหยิบยกมากล่าวถึงอยู่ 4 เหตุการณ์ เริ่มจากการลงนามให้คำมั่นของ 181 ซีอีโอที่เป็นสมาชิกของสมาคม Business Roundtable ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1972 ในคำแถลงแห่งความมุ่งประสงค์ของกิจการ (Statement on the Purpose of a Corporation) ที่ปรับเปลี่ยนจุดยืนจากการดำเนินกิจการที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้น (Shareholders) เป็นหลักมาอย่างยาวนาน มาเป็นการสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ทั้งหมด

เหตุการณ์ต่อมา ที่มีความคล้ายคลึงกัน คือ สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ได้ออกคำประกาศเจตนาดาโวส 2020: ความมุ่งหมายสากลของบริษัทในยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ (Davos Manifesto 2020: The Universal Purpose of a Company in the Fourth Industrial Revolution) โดยมุ่งหมายที่จะสานสัมพันธ์ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ในอันที่จะสร้างให้เกิดคุณค่าร่วมและยั่งยืน ไม่เพียงแต่การสร้างคุณค่าให้แก่ผู้ถือหุ้น แต่รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียทั้งกลุ่มพนักงาน ลูกค้า ผู้ส่งมอบ ชุมชนท้องถิ่น และสังคมโดยรวม

อีกเหตุการณ์หนึ่ง ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย คือ การก่อตั้งเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thailand Responsible Business Network: TRBN) ที่ริเริ่มขึ้นโดยสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และองค์กรร่วมก่อตั้งอีก 9 แห่ง ภายใต้วิสัยทัศน์ที่จะขับเคลื่อนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และบริษัทเอกชนทั่วไปสู่การดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

ส่วนเหตุการณ์ที่สี่ คือ การก่อตั้งประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน (Sustainability Disclosure Community: SDC) ที่สถาบันไทยพัฒน์เป็นผู้ริเริ่ม เพื่อใช้เป็นแพลตฟอร์มในการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจที่เป็นสมาชิกของ SDC ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงาน ซึ่งครอบคลุมทั้งการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม หรือประเด็นด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) อันจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ และการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนในระยะยาว รวมทั้งการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 12.6 ร่วมกัน ซึ่งในปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 105 องค์กร

ทั้งนี้ จากฐานข้อมูล GRI Sustainability Disclosure Database (SDD) ซึ่งเป็นแหล่งรวมข้อมูลรายงานแห่งความยั่งยืนของกิจการทั่วโลก ประเทศไทยมีตัวเลขการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่อ้างอิงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มากเป็นอันดับ 5 ของโลก ขณะที่การเปิดเผยข้อมูลในรูปของรายงานด้านความยั่งยืนที่จัดทำตามแนวทาง GRI ของไทย มีตัวเลขอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก

สำหรับในปี 2563 แนวโน้มความเคลื่อนไหวของภาคธุรกิจที่มีต่อการพัฒนาสู่ความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับประโยชน์และความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย ยังคงเป็นทิศทางหลักแห่งการขับเคลื่อน และถือเป็น “ปีแห่งการเป็นผู้ประกอบความยั่งยืน” หรือ “Year of Sustainpreneurship” ที่องค์กรธุรกิจจะต้องสร้างภาวะผู้ประกอบความยั่งยืนที่เอื้อต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง

สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการประเมินทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาความยั่งยืนของกิจการ ประจำปี 2563 ภายใต้รายงานที่มีชื่อว่า 6 ทิศทาง CSR ปี 2563: The Year of Sustainpreneurship เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับหน่วยงานและองค์กรธุรกิจ ในการใช้เป็นแนวทางเสริมสร้างภาวะผู้ประกอบความยั่งยืนให้เกิดขึ้น ในอันที่จะส่งมอบคุณค่าร่วมแก่ผู้มีส่วนได้เสียทั้งผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า ผู้ส่งมอบ ชุมชนท้องถิ่น และสังคมโดยรวม


 
 (พิพัฒน์ ยอดพฤติการ)
ประธานสถาบันไทยพัฒน์
25 กุมภาพันธ์ 2563