Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

โควิด 19: ESG กระทบโลก กระเทือนธุรกิจ


ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุน โดยเฉพาะผู้ลงทุนสถาบัน ในการใช้เป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์และพิจารณาตัดสินใจลงทุนมาระยะหนึ่งแล้ว

ประเด็นด้าน ESG จัดเป็นข้อมูลประเภทที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน ที่สามารถบ่งชี้ถึงโอกาสและความเสี่ยง รวมทั้งขีดความสามารถขององค์กรที่มีต่อผลประกอบการในอนาคต นอกเหนือจากข้อมูลทางการเงินที่สะท้อนผลประกอบการที่ผ่านมาของบริษัท

ในประเด็นด้าน ESG ที่สมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลก (World Federation of Exchanges) แนะนำให้บริษัทจดทะเบียนมีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินการ ในฐานะหนึ่งในตัวชี้วัดพื้นฐาน (Baseline Indicators) ได้แก่ ประเด็นสุขภาพโลก (Global Health) ซึ่งหมายถึง ปัญหาหรือข้อกังวลด้านสุขภาพ ที่ข้ามพรมแดน หรือผลจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนอกพรมแดน และเกินขอบเขตและความสามารถของรัฐใดรัฐหนึ่งที่จะดำเนินการได้สำเร็จ ต้องการกลไกที่มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก เพื่อจัดการปัญหาสุขภาพและปัจจัยกำหนดปัญหาเหล่านั้น เช่น โรคติดเชื้อข้ามพรมแดน (อาทิ MERS, SARS, COVID-19) และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ก่อให้เกิดปัญหาข้ามพรมแดน รวมถึงปัญหาจากผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ บุหรี่ เหล้า เป็นต้น

โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบัน ได้กระจายตัวไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวางสู่หลายประเทศทั่วโลก โดยมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จัดเป็นหนึ่งในประเด็นด้าน ESG ที่บริษัทจำเป็นต้องหามาตรการเร่งด่วนในการรับมือกับสถานการณ์ เนื่องจากส่งผลกระทบในวงกว้างต่อผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ ทั้งเรื่องความปลอดภัยของพนักงาน พฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงสถานการณ์ ความไม่ต่อเนื่องในห่วงโซ่อุปทาน และการหยุดชะงักของธุรกิจที่ส่งผลต่อรายได้และบรรทัดสุดท้าย (คือ กำไร) ของกิจการ

โควิด 19 ถือเป็นประเด็น ESG ที่เป็นสาระสำคัญและมีนัยสำคัญทางการเงิน (Financially Material Topic) สำหรับองค์กร ที่สามารถส่งผลกระทบได้ในเชิงที่เป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงของธุรกิจ

ตัวอย่างธุรกิจซึ่งได้รับผลกระทบในแง่ของความเสี่ยง ได้แก่ ธุรกิจการบิน โรงแรม นำเที่ยว สถานบันเทิง ร้านอาหาร (ประเภทนั่งทาน) รวมทั้งธุรกิจรับจัดงานและนิทรรศการต่างๆ เป็นต้น ตัวอย่างธุรกิจซึ่งได้รับผลกระทบในแง่ของโอกาส ได้แก่ ธุรกิจจัดส่งสินค้า (Delivery) โรงพยาบาล ประกันสุขภาพ ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อและบริการทำความสะอาดสถานที่ให้ปลอดเชื้อ รวมทั้งธุรกิจที่ใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์และผู้ให้บริการเครื่องมือสำหรับการทำธุรกรรมออนไลน์ อาทิ การประชุมทางไกล เป็นต้น


จากการวิเคราะห์ของแมคคินซี่ ร่วมกับ ออกซฟอร์ด อีโคโนมิกส์ ในกรณีที่การรับมือด้านสาธารณสุขมีประสิทธิผล แต่การแพร่ระบาดยังคงขยายตัวในระดับภูมิภาค ขณะที่นโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจที่ออกมารองรับส่งผลในระดับหนึ่ง จะทำให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า “Muted Recovery” หรือ การฟื้นคืนทรงตัว ไม่ขยับไปไหนเป็นระยะเวลานาน ตามฉากทัศน์นี้ จะฉุดให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั่วโลก หรือ จีดีพีโลก ในปี 2563 ติดลบ 4.7% และคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นคืนกลับมาสู่ภาวะปกติได้อีกครั้ง ในไตรมาสที่สาม ของปี 2565 หรือในอีก 2 ปีข้างหน้า

จากสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่จำนวนยอดผู้ติดเชื้อยังอยู่ในอัตราที่เพิ่มขึ้น แสดงถึง ภาวะของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ยังมิได้ขึ้นสู่จุดสูงสุดของสถานการณ์ นั่นหมายความว่า ความชะงักงันทางเศรษฐกิจ ก็ยังมิได้ดิ่งลึกลงถึงจุดต่ำสุดเช่นกัน

ข้อกำหนดที่ออกตามหลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน อาทิ การห้ามหรือจำกัดการเข้าออกสถานที่ การเดินทาง การเคลื่อนย้ายข้ามเขต ข้ามพื้นที่ การควบคุมการใช้ยานพาหนะและเส้นทางจราจร เป็นมาตรการที่ส่งผลไปยังการหดตัวของปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และการลงทุนของภาคเอกชนอย่างฉับพลันทันที โดยธนาคารแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ในปี 2563 จะติดลบ 5.3%

โควิด 19 ได้กลายเป็นประเด็น ESG ที่ทำให้ทั้งโลกได้รับผลกระทบทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระเทือนตามมาเป็นลูกโซ่ ทั้งธุรกิจข้ามชาติ บริษัทขนาดใหญ่ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ไปจนถึงร้านค้า หาบเร่ แผงลอย โดยถ้วนทั่วทุกหัวระแหง จึงขอให้ผู้ประกอบการทุกท่าน เตรียมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างมีสติและด้วยความรอบคอบระมัดระวังนับจากนี้ไป


[Original Link]