Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

หุ้น DJSI ยั่งยืนจริงหรือ?


ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) ถูกริเริ่มทำขึ้นในปี 2542 สำหรับใช้เป็นดัชนีเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุน และใช้เป็นดัชนีอ้างอิงสำหรับการลงทุนที่สะท้อนผลตอบแทนของหลักทรัพย์ที่มีความโดดเด่นด้านความยั่งยืนทั่วโลก

ในปี 2563 มีบริษัทที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประเมินทั้งสิ้น 3,538 แห่ง มีบริษัทที่ตอบแบบสอบถามรวม 1,386 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 39 และมีบริษัทไทยที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประเมินในปีนี้ จำนวน 36 แห่ง


    ที่มา: Finch & Beak

ผลการประเมินเพื่อคัดเลือกบริษัทที่โดดเด่นด้านความยั่งยืนให้เข้าอยู่ในดัชนี DJSI ประจำปี 2563 พบว่า มี 21 บริษัทจดทะเบียนไทย (ไม่รวมบริษัทนอกตลาดฯ) ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าอยู่ในดัชนี DJSI ได้แก่ ADVANC, AOT, BANPU, BTS, CPALL, CPF, CPN, EGCO, HMPRO, IRPC, IVL, KBANK, MINT, PTT, PTTEP, PTTGC, SCB, SCC, TOP, TRUE และ TU

หากย้อนกลับไปดูสถิติในอดีต พบว่า มีบริษัทไทยได้รับเชิญให้เข้าร่วมรับการประเมินและได้รับคัดเลือกให้เข้าอยู่ในดัชนี DJSI ครั้งแรกเมื่อปี 2544 และมีจำนวนเพิ่มขึ้นโดยลำดับ

ในมุมของบริษัทที่ลงทุน (Investees) ถือเป็นพัฒนาการในช่วง 19 ปีที่ผ่านมา นับจากปี 2544 ที่มีบริษัทจดทะเบียนได้รับคัดเลือกให้เข้าอยู่ในดัชนี DJSI จาก 1 บริษัท เพิ่มขึ้นมาเป็น 21 บริษัท ในปี 2563

สถิติที่สำคัญ
ปี 63 ได้รับเชิญ 36 บริษัท, ได้รับคัดเลือก 21 บริษัท (เพิ่ม EGCO)
ปี 62 ได้รับเชิญ 36 บริษัท, ได้รับคัดเลือก 20 บริษัท (ADVANC เข้า)
ปี 61 ได้รับเชิญ 32 บริษัท, ได้รับคัดเลือก 19 บริษัท (เพิ่ม BTS SCB)
ปี 60 ได้รับเชิญ 37 บริษัท, ได้รับคัดเลือก 17 บริษัท (เพิ่ม CPALL IVL HMPRO TRUE) (ADVANC ออก)
ปี 59 ได้รับเชิญ 33 บริษัท, ได้รับคัดเลือก 14 บริษัท (เพิ่ม KBANK)
ปี 58 ได้รับเชิญ 34 บริษัท, ได้รับคัดเลือก 13 บริษัท (เพิ่ม ADVANC AOT CPF)
ปี 57 ได้รับเชิญ 30 บริษัท ได้รับคัดเลือก 10 บริษัท (เพิ่ม BANPU CPN IRPC MINT PTTEP TU)
ปี 56 ได้รับเชิญ 34 บริษัท ได้รับคัดเลือก 4 บริษัท (เพิ่ม PTTGC TOP)
ปี 55 ได้รับเชิญ 22 บริษัท ได้รับคัดเลือก 2 บริษัท (เพิ่ม PTT)
ปี 47-54 คงมีบริษัทเดียวที่ได้รับคัดเลือก
ปี 44 มีบริษัทไทยที่ได้รับคัดเลือก (คือ SCC)
ปี 42 เริ่มมีดัชนี DJSI

ในมุมของผู้ลงทุน (Investors) การลงทุนในหุ้นที่ถือว่ามีความโดดเด่นด้านความยั่งยืนตามการประเมินดังกล่าว ยังไม่อาจตอบโจทย์การลงทุนที่ยั่งยืน เพราะเมื่อพิจารณาผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงปัจจุบัน (YTD) ของหุ้น DJSI ทั้ง 21 ตัว (Equal-weighted) พบว่า มีอัตราผลตอบแทนติดลบอยู่ที่ -20.71% ขณะที่ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ลดลง -14.56% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ขณะที่ในช่วงเดือนกันยายน 2563 ผลตอบแทนของดัชนี S&P 500 ESG มีตัวเลขที่ชนะดัชนี S&P 500 อยู่ที่ 2.5% สอดคล้องกับตัวเลขผลประกอบการของกองทุน ESG ที่มีความผันผวนน้อยกว่ากองทุนทั่วไป ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา

เมื่อเทียบกับดัชนี Thaipat ESG Index ซึ่งเป็นดัชนีที่ประกอบขึ้นจากหลักทรัพย์ที่มีความโดดเด่นด้าน ESG ที่ทำการประเมินโดยสถาบันไทยพัฒน์ พบว่า มีผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีที่ลดลงในระดับที่ต่ำกว่า คือ -11.28% (ข้อมูล ณ 17 พ.ย. 63) หรือคิดเป็นส่วนต่างของผลตอบแทน 9.43% เมื่อเทียบกับผลตอบแทนหุ้นไทยที่อยู่ในดัชนี DJSI

ทั้งนี้ ข้อมูลที่ใช้ในการประเมินทั้งในส่วนของหุ้นไทยในดัชนี DJSI และหลักทรัพย์ในดัชนี Thaipat ESG ใช้ข้อมูลการดำเนินงานของบริษัทในรอบปี 2562

ด้วยเหตุที่การประเมินซึ่งมุ่งไปที่การพิจารณาประเด็นด้าน ESG ของบริษัทที่มีความโดดเด่นในมิติเดียว ทำให้เกิดข้อจำกัดที่ผู้ลงทุนอาจต้องแลก (Trade-off) ระหว่างการลงทุนในบริษัทที่มี ESG ดี แต่ผลประกอบการไม่เป็นที่น่าพอใจ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ไม่ตอบโจทย์ผู้ลงทุนในมิติของการลงทุนที่ยั่งยืนว่า การลงทุนในบริษัทที่มี ESG ดี จะช่วยลดความผันผวนด้านราคาของหลักทรัพย์ และช่วยสร้างผลตอบแทนที่แข็งแกร่งให้แก่ผู้ลงทุนในระยะยาว

ผู้ลงทุน พึงวิเคราะห์ข้อมูล ESG ควบคู่กับข้อมูลทางการเงินในลักษณะบูรณาการ เพื่อให้สะท้อนผลตอบแทนที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับผลประกอบการจากการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัท โดยสามารถตอบโจทย์การลงทุนที่ยั่งยืน ในทางที่สร้างคุณค่าที่ตอบสนองต่อผู้ลงทุนและสังคมโดยรวมไปพร้อมกัน


ปรับปรุง: พ.ย. 64

[Original Link]