Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

6 ปี การเดินทางของหุ้น ESG100


นับตั้งแต่ที่สถาบันไทยพัฒน์บุกเบิกการพัฒนาฐานข้อมูลความยั่งยืนของธุรกิจ และเป็นผู้ริเริ่มการประเมินข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ของบริษัทจดทะเบียนในปี พ.ศ.2558 ได้ทำการประกาศรายชื่อหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน ESG จำนวน 100 บริษัท หรือที่เรียกว่า กลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ซึ่งถือเป็นการจัดอันดับหลักทรัพย์ด้านการพัฒนาความยั่งยืนของธุรกิจครั้งแรกในประเทศไทย

ปัจจุบัน หน่วยงาน ESG Rating ของสถาบันไทยพัฒน์ ได้ดำเนินการประเมินข้อมูลด้านความยั่งยืนของหลักทรัพย์จดทะเบียนต่อเนื่องมาเป็นปีที่หกในปีนี้

การประเมินปีแรก เกณฑ์ที่พัฒนาขึ้น มุ่งไปที่การพิจารณาคัดเลือกบริษัทที่มีความโดดเด่นเฉพาะด้าน ESG ทำให้เกิดข้อจำกัดที่ผู้ลงทุนอาจต้องแลก (Trade-off) ระหว่างการลงทุนในบริษัทที่มี ESG ดี แต่ผลประกอบการไม่เป็นที่น่าพอใจ

ทำให้ในปีที่สอง จึงได้มีการปรับเกณฑ์การวิเคราะห์ข้อมูล ESG ผนวกเข้ากับข้อมูลทางการเงิน ที่เรียกว่า Integrated ESG Assessment เพื่อประเมินตัวเลขผลประกอบการหรือผลการดำเนินงานที่สัมพันธ์กับประเด็นด้าน ESG ของบริษัท เป็นการปรับจากการวิเคราะห์ข้อมูลด้าน ESG แบบเอกเทศ มาเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานด้าน ESG ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับผลประกอบการ เพื่อตอบโจทย์ผู้ลงทุนในมิติของการลงทุนที่ยั่งยืนว่า บริษัทที่มี ESG ดี จะสามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ดีด้วย

ในปี พ.ศ.2561 หลังจากที่ได้รวบรวมข้อมูลการประเมินมาสามปี ได้ขยายผลมาสู่การจัดทำดัชนีอีเอสจี ไทยพัฒน์ โดยมี S&P Dow Jones เป็นผู้คำนวณและเผยแพร่ข้อมูลดัชนี ผ่านหน้าจอ Bloomberg และ Reuters ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วโลก

Thaipat ESG Index เป็นดัชนีอีเอสจีแรกในประเทศไทย ที่ใช้การคำนวณดัชนีด้วยวิธีถ่วงน้ำหนักหลักทรัพย์เท่ากัน (Equal Weighed Index) คือ ให้ความสำคัญกับหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของดัชนีเท่ากันทุกหลักทรัพย์ โดยไม่ขึ้นกับขนาดของหลักทรัพย์ ทำให้ดัชนีสามารถสะท้อนความเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์ได้อย่างเท่าเทียมกันในทุกหลักทรัพย์ และเปิดโอกาสให้หลักทรัพย์คุณภาพขนาดเล็กที่ผ่านเกณฑ์ด้าน ESG สามารถส่งผลต่อค่าของดัชนีได้ ในสัดส่วนที่เท่ากับหลักทรัพย์ขนาดใหญ่

ดัชนีอีเอสจี ไทยพัฒน์ ในรอบของการปรับหลักทรัพย์ล่าสุด (ก.ค. 63) มีจำนวน 43 หลักทรัพย์ โดย 10 อันดับหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี ประกอบด้วย DELTA HANA KBANK KCE KKP KTC SCB THANI TISCO VGI (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พ.ย. 63)

ในฝั่งของผู้ลงทุน (Investors) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และผู้ลงทุนสถาบัน สามารถใช้ทำเนียบหุ้น ESG100 และดัชนีอีเอสจี ไทยพัฒน์ เป็นดัชนีอ้างอิงและเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนตามหลักธรรมาภิบาลการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนสถาบัน (Investment Governance Code) ในบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยยังได้รับผลตอบแทนที่มิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป


ตัวเลขผลตอบแทนเฉลี่ยของดัชนีผลตอบแทนรวม Thaipat ESG Index TR ตั้งแต่จัดทำดัชนี (30 มิ.ย. 58) อยู่ที่ 4.12% ต่อปี โดยยังมีผลตอบแทนเป็นบวก แม้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เมื่อตอนต้นปี 63 และชนะดัชนีผลตอบแทนรวม SET TRI ซึ่งให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 2.07% ต่อปี ในช่วงเวลาเดียวกัน

ในฝั่งของบริษัทที่ได้รับการลงทุน (Investees) ประโยชน์ที่บริษัทได้รับจากการประเมินหลักทรัพย์ ESG100 ประการแรก ได้แก่ การที่บริษัทจะได้รับทราบสถานะการดำเนินงานด้าน ESG ในปัจจุบันของกิจการ ด้วยชุดตัวชี้วัดด้าน ESG ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และเป็นการประเมินอย่างอิสระโดยหน่วยงานภายนอก โดยใช้เกณฑ์และหลักการที่อ้างอิงตามแนวทางการประเมินและมาตรฐานการรายงานสากล อาทิ WFE, GRI, SASB, UN PRI

ประการที่สอง เนื่องจากการประเมินหลักทรัพย์ ESG100 คำนึงถึงประเด็น ESG ที่มีนัยสำคัญตามบริบทของแต่ละอุตสาหกรรม และต้องเชื่อมโยงสัมพันธ์กับธุรกิจแกนหลัก (Core Business) ขององค์กร นอกเหนือจากประเด็น ESG พื้นฐาน ทำให้บริษัทสามารถนำผลการประเมินในรูปแบบของรายงานวิเคราะห์เชิงลึก ไปใช้เป็นข้อมูลสำหรับการวางแผนพัฒนาปรับปรุงเพื่อยกระดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับ ESG ได้อย่างตรงจุด สอดคล้องกับบริบทเฉพาะองค์กร (Company-specific) และบริบทเฉพาะอุตสาหกรรม (Industry-specific) ควบคู่ไปพร้อมกัน

ประการที่สาม ด้วยเหตุที่การประเมินหลักทรัพย์ ESG100 ใช้ข้อมูลที่บริษัทเปิดเผยต่อสาธารณะตามช่องทางที่บริษัทเผยแพร่เป็นปกติ ทำให้ไม่เป็นภาระแก่บริษัทในการจัดเตรียมข้อมูลสำหรับการประเมินเพิ่มเติม ขณะเดียวกัน ก็เป็นการกระตุ้นให้บริษัทพัฒนาการเปิดเผยข้อมูล ESG ต่อสาธารณะ ในรูปแบบรายงานความยั่งยืน หรือในแบบ 56-1 เพื่อให้มีข้อมูลที่สมบูรณ์และเพียงพอต่อการประเมิน ESG100 อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียอื่นที่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูล ESG ดังกล่าวด้วย


[Original Link]