Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ไทยพัฒน์ แถลงทิศทาง CSR ปี 65

ชูแนวคิด Social Positive ธุรกิจที่สร้างผลบวกต่อสังคม


สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ คาดการณ์แนวโน้มธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ปี 65 ใน 6 ทิศทางสำคัญ ด้วยการใช้แนวคิด Social Positive ในการสร้างผลบวกต่อสังคม เพิ่มเติมจากการใช้แนวทาง Net Zero ในการขจัดผลลบต่อสิ่งแวดล้อม

ปัจจัยความท้าทายใหม่ๆ ในปี 2565 ทั้งปัญหาการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ เสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและปัญหาหนี้สินในภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ล้วนส่งอิทธิพลต่อการเติบโตทางธุรกิจและความก้าวหน้าทางสังคม นอกเหนือจากผลพวงของสถานการณ์โควิดที่ยังส่งผลสืบเนื่องต่อในปีนี้

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ ได้กล่าวในงานแถลงทิศทาง CSR ปี 2565 ที่จัดขึ้นวันนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2565) ว่า “ภาคธุรกิจกำลังเผชิญสถานการณ์ที่ไม่อาจพึ่งพารูปแบบการดำเนินธุรกิจตามปกติ (Business as Usual) ในการเติบโตได้ดังเดิม หลายกิจการที่ได้รับผลกระทบ จำเป็นที่จะต้องมองหาและพัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจในวิถีปกติใหม่ (Business as New Normal) ที่เอื้อต่อการเติบโตทางธุรกิจในแบบยั่งยืน และสามารถเสริมหนุนการพัฒนาทางสังคมควบคู่ไปพร้อมกัน

สถาบันไทยพัฒน์ ได้พัฒนาแนวคิดในการปรับปรุงพัฒนารูปแบบธุรกิจ ที่เรียกว่า “ธุรกิจที่เป็นบวกต่อสังคม” หรือ Social Positive Business ซึ่งเชื่อว่า จะเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการสร้างผลกระทบต่อสังคมในเชิงบวกไปพร้อมกันกับการเติบโตของธุรกิจ ด้วยการยกระดับจากการให้ความช่วยเหลือแก่สังคมในรูปแบบของการบริจาคเงิน/สินค้า/บริการ ฯลฯ และการเพิ่มระดับการกระจายมูลค่าทางเศรษฐกิจผ่านกิจกรรมทางธุรกิจแก่ผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่าอย่างเป็นธรรม ไปสู่การใช้ขีดความสามารถหลักทางธุรกิจในการขยายขอบเขตให้ครอบคลุมส่วนตลาดที่ยังมิได้รับการตอบสนอง (Unserved) หรือที่ยังตอบสนองได้ไม่เต็มที่ (Underserved) เพื่อเติมเต็มคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี เกิดเป็นผลบวกต่อสังคมกลุ่มเป้าหมาย

ในปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการประเมินทิศทางธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ภายใต้รายงานที่มีชื่อว่า 6 ทิศทาง CSR ปี 2565: From ‘Net Zero’ to ‘Social Positive’ สำหรับหน่วยงานและองค์กรธุรกิจในการใช้พัฒนาแนวทางการสื่อสารข้อมูลผลกระทบทางบวกที่มีต่อสังคมให้เกิดประสิทธิผล สมตามเจตนารมณ์ของกิจการ

ในงานแถลงทิศทาง CSR ปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ยังได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง Social Positive: Business as New Normal เพื่อนำเสนอรูปแบบการดำเนินงานที่เป็นบวกต่อสังคม (Social Positive: SP) ใน 3 หมวด ได้แก่ 1) การให้ความช่วยเหลือที่เกิดเป็นผลบวกต่อสังคมขึ้นภายหลังกระบวนงานทางธุรกิจ (SP-after-process) และเป็นกิจกรรมที่อยู่นอกเหนือธุรกิจแกนหลักของกิจการ 2) การกระจายมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดเป็นผลบวกต่อสังคมขึ้นในกระบวนงานทางธุรกิจ (SP-in-process) ครอบคลุมตั้งแต่ผู้มีส่วนได้เสียในองค์กรไปจนถึงผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่าของกิจการ และ 3) การขยายขอบเขตการดำเนินงานไปเป็นกระบวนงานทางธุรกิจ (SP-as-process) ในวิถีปกติใหม่ที่ให้ผลบวกต่อสังคมจากธุรกิจแกนหลักของกิจการ

นายวรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า “ในปี 2565 นี้ ภาคเอกชนที่ต้องการสื่อสารถึงการสร้างผลกระทบทางบวกต่อสังคมที่กิจการมีส่วนดำเนินการและสนับสนุน ไปยังกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ สามารถนำเกณฑ์ชี้วัดที่เป็นสากล อาทิ GRI* 201 (Direct Economic Impacts) และ GRI 203 (Indirect Economic Impacts) มาใช้ในการวัดระดับผลกระทบ และเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบ ผ่านรายงานความยั่งยืนประจำปีของกิจการ

การขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนของภาคเอกชนนับจากนี้ไป จะใช้การสื่อสารด้วยประเด็น ESG (Environmental, Social and Governance) ที่เป็นเสมือนภาษากลางระหว่างผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ให้ได้รับทราบถึงผลประกอบการทางธุรกิจและผลกระทบที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในฐานะธุรกิจที่ร่วมสร้างผลกระทบทางบวกต่อสังคม (Social Positive) และร่วมขจัดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อม (Net Zero)

นายฌานสิทธิ์ ยอดพฤติการณ์ กรรมการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวเสริมว่า “เพื่อช่วยภาคเอกชนในการปรับตัวสู่รูปแบบการดำเนินธุรกิจในวิถีปกติใหม่ สถาบันไทยพัฒน์ได้พัฒนาเครื่องมือติดตามวัดผล และสื่อสารถึงผลกระทบจากการดำเนินงาน ทั้งในส่วนที่เป็นการให้ความช่วยเหลือสังคม (Contribution) การกระจายมูลค่าทางเศรษฐกิจ (Distribution) และการขยายเป็นโครงการหรือส่วนงานประจำ (Extension) ตามรูปแบบการดำเนินงานที่เป็นบวกต่อสังคมอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง

หน่วยงานที่ต้องการใช้ประโยชน์จากรูปแบบการดำเนินงานทางธุรกิจที่ให้ผลบวกต่อสังคม และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนธุรกิจในวิถีปกติใหม่ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ www.thaipat.org ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป



สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
สถาบันไทยพัฒน์ ปิยเลขา ไหล่แท้ โทร 0-2930-5227



--------------------------------------
* GRI เป็นมาตรฐานการรายงานความยั่งยืน ที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการมาตรฐานความยั่งยืนสากล (GSSB) ในความอุปถัมภ์ขององค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative) และเป็นมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับโลก