Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ทิศทาง CSR ปี 2551


ในปี 2550 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ธุรกิจแทบทุกแขนงได้ให้ความสนใจในเรื่อง “บรรษัทบริบาล” (Corporate Social Responsibility – CSR) อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน องค์กรธุรกิจหน้าใหม่ได้กระโจนเข้าสู่สนามความรับผิดชอบต่อสังคมกันอย่างคึกคัก ในขณะที่องค์กรธุรกิจที่ดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ต่างก็คิดค้นกระบวนยุทธ์ด้านซีเอสอาร์เพื่อยกระดับคุณค่าให้แก่สังคมพร้อมกับเสริมสร้างเอกลักษณ์ของกิจกรรมได้อย่างน่าสนใจ

แนวคิดเรื่องซีเอสอาร์ได้ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับการสถาปนาธุรกิจในสังคมไทยมาเป็นเวลายาวนาน ในรูปของการทำบุญ การบริจาคเพื่อการกุศล หรือการอาสาช่วยเหลืองานส่วนรวมที่เรียกว่าการลงแขก จนเมื่อสองปีที่แล้ว กระแสซีเอสอาร์ในเมืองไทย ก็ได้ถูกจุดประกายขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และได้ถูกบรรจุเป็นแนวปฏิบัติที่ผนวกเข้ากับการดำเนินธุรกิจ นอกเหนือไปจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่นอกกระบวนการทางธุรกิจ ในรูปของการบริจาค หรือการอาสาช่วยเหลือสังคมดังเช่นที่ผ่านมา

สำหรับปี 2551 นี้ สถานการณ์ด้านซีเอสอาร์จะยังคงมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสพบปะกับผู้ดูแลโครงการด้านซีเอสอาร์ในประเทศฝรั่งเศส และนักวิจัยที่ศึกษาเรื่องการจัดทำบัญชีเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในประเทศอังกฤษ ได้พูดถึงว่า กระแสซีเอสอาร์ของไทยในปีที่ผ่านมา ยังคึกคักกว่าที่ยุโรปซึ่งเป็นแหล่งนวัตกรรมซีเอสอาร์ด้วยซ้ำไป

สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการศึกษาวิจัยเรื่องบรรษัทบริบาลในเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นผู้ประเมินทิศทางซีเอสอาร์ของไทยในปีที่แล้ว จึงได้ทำการประมวลภาพความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของซีเอสอาร์จากปี 2550 สู่ปี 2551 ภายใต้รายงานที่มีชื่อว่า “6 ทิศทาง ซีเอสอาร์ ปี 2008: High Performance CSR” เพื่อให้เห็นทิศทางที่ต่อเนื่องในการขับเคลื่อนซีเอสอาร์ขององค์กรธุรกิจจากการสร้างพันธะแห่งความรับผิดชอบต่อสังคม (Engaged CSR) สู่การเป็นองค์กรที่มีสมรรถนะความรับผิดชอบสูง (High Performance CSR) สอดรับกับกระแสความเคลื่อนไหวของซีเอสอาร์โลก

 
 (พิพัฒน์ ยอดพฤติการ)
ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์
29 มกราคม 2551