Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

Environmental, Social, and Governance (ESG)


ใครสนใจผู้ลงทุน (Investors)
คืออะไรESG เป็นคำที่ถูกบัญญัติขึ้นใช้ในตลาดทุน โดยผู้ลงทุน เพื่อใช้ประเมินการดำเนินงานของกิจการที่เกี่ยวโยงกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ซึ่งเอื้อให้ผู้ลงทุนสามารถคาดการณ์ถึงผลประกอบการในอนาคตของกิจการ

จากความต้องการของผู้ลงทุนที่มีต่อข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในปัจจุบัน ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงข้อมูลทางการเงิน ผู้ลงทุนได้ให้ความสำคัญของข้อมูลที่มิใช่ตัวเลขทางการเงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะข้อมูลดังกล่าว สามารถบ่งชี้ถึงโอกาสและความเสี่ยง รวมทั้งขีดความสามารถขององค์กรที่มีต่อผลประกอบการในอนาคตของบริษัท

สิ่งที่เกิดขึ้น คือ การพัฒนาในฝั่งของผู้ลงทุน ต่อการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ ที่ไม่ใช่เพื่อผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่มีการพิจารณาถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดี คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้เสียอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะผู้ลงทุนประเภทสถาบัน หรือผู้จัดการลงทุนซึ่งทำหน้าที่ดูแลการลงทุนให้แก่ผู้ลงทุน จำเป็นต้องมีแนวปฏิบัติสำหรับการลงทุนที่ดี ใช้ข้อมูลการดำเนินงานในประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG ที่กิจการเปิดเผย ประกอบการตัดสินใจลงทุนอย่างรอบด้าน

ตลาดหลักทรัพย์รวมทั้งหน่วยงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ได้ออกมาตรการในการส่งเสริมให้บริษัทดำเนินการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนให้ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีมาตรการในการสนับสนุนให้ผู้ลงทุนใช้ข้อมูล ESG ประกอบการตัดสินใจลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนในบริษัทที่ขาดธรรมาภิบาล ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม และสร้างผลกระทบเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลต่อความยั่งยืนและผลประกอบการในระยะยาวของกิจการ

ในปี พ.ศ.2558 สมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลก (World Federation of Exchanges: WFE) ได้จัดทำเอกสาร ESG Guidance and Metrics สำหรับแนะนำบริษัทจดทะเบียนให้เปิดเผยข้อมูลและตัวชี้วัดด้าน ESG ตามมาตรฐานและแนวทางที่เป็นสากล โดยมีตลาดหลักทรัพย์ 35 แห่ง ในขณะนั้น ได้ดำเนินการเผยแพร่ข้อแนะนำการรายงานข้อมูล ESG สำหรับบริษัทจดทะเบียน

ต่อมาในปี พ.ศ.2561 WFE ได้ทำการปรับปรุงแนวทางและชุดตัวชี้วัดดังกล่าว โดยคำนึงถึงความเคลื่อนไหวด้านการพัฒนาสู่ความยั่งยืนที่เกิดขึ้นใหม่ อาทิ การประกาศใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) รวมทั้งเสียงสะท้อนจากกลุ่มผู้ลงทุนที่มีต่อแนวทางฉบับแรกเริ่ม ตลอดจนการปรับปรุงตัวชี้วัดจากประสบการณ์ที่ได้นำไปใช้ในตลาดหลักทรัพย์บางแห่ง

แนวทางฉบับปรับปรุงที่ใช้ในปัจจุบัน จัดทำโดยคำนึงถึงความต้องการของผู้ลงทุนที่มีต่อการเปิดเผยข้อมูล ESG เพื่อให้มีความเกี่ยวเนื่องกับผู้ลงทุน (Investor-relevant) และเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุน (Decision-useful) รวมทั้งมีความเกี่ยวโยงระหว่างข้อมูลที่เปิดเผยกับคุณค่าทางธุรกิจ ตลอดจนมีการระบุถึงวิธีการกำหนดสารัตถภาพ (Materiality) และนิยามสารัตถภาพที่ใช้ในการเปิดเผยข้อมูล

รายการข้อมูลทั้ง 30 ตัวชี้วัด ตามเอกสารแนวทางและชุดตัวชี้วัดของ WFE ได้แก่

ด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย ยอดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ความเข้มข้นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยอดการใช้พลังงาน ความเข้มข้นของการใช้พลังงาน สัดส่วนการใช้พลังงาน การใช้น้ำ การดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม การกำกับดูแลความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศและประเด็นความยั่งยืนอื่นๆ การลดความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ

ด้านสังคม ประกอบด้วย อัตราส่วนค่าตอบแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อัตราส่วนค่าตอบแทนในมิติหญิงชาย ร้อยละของการออกจากงาน ความหลากหลายในมิติหญิงชาย อัตราการจ้างงานชั่วคราว การไม่เลือกปฏิบัติ อัตราการบาดเจ็บ สุขภาพในบริบทโลก แรงงานบังคับและแรงงานเด็ก นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน

ด้านธรรมาภิบาล ประกอบด้วย ความหลากหลายในโครงสร้างคณะกรรมการบริษัท ความเป็นอิสระในคณะกรรมการบริษัท การจ่ายค่าตอบแทนจูงใจ สภาพการจ้าง จรรยาบรรณคู่ค้า จริยธรรมและการต้านทุจริต การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนและการรายงานข้อมูลตามข้อกำหนด ข้อปฏิบัติในการเปิดเผยข้อมูล การให้ความเชื่อมั่นต่อการเปิดเผยข้อมูลจากหน่วยงานหรือบุคคลภายนอก

ตาราง: WFE ESG Metrics


WFE ESG Metrics


ชุดตัวชี้วัดที่ WFE แนะนำให้เปิดเผย เป็นตัวชี้วัดพื้นฐาน (Baseline Indicators) ที่บริษัทจดทะเบียนควรดำเนินการได้ทั้งหมด จำนวน 30 ตัวชี้วัด โดยการเปิดเผยให้เป็นไปตามหลักการ “Respond or Explain” คือ ในกรณีที่บริษัทจดทะเบียนไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลในรายการใด ต้องระบุเหตุผลที่ละเว้นการรายงานในรายการนั้นๆ ให้ทราบด้วย

CSR กับ ESG ต่างกันหรือไม่



ตำแหน่งของ ESG ในมณฑลแห่งความยั่งยืน