Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

Why GCI?

Rational      Principles      Core Indicators      Resources

นับตั้งแต่ที่องค์การสหประชาชาติ ได้มีการประกาศใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) 17 ข้อ เมื่อปี ค.ศ.2015 ทุกภาคส่วนได้ตื่นตัวที่จะค้นหาแนวทาง วิธีการ และเครื่องมือการดำเนินงาน เพื่อให้มีส่วนในการตอบสนองและนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

ภาคเอกชน โดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งมีทรัพยากรและความพร้อม ต่างขานรับที่จะร่วมในการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแข็งขัน

ในระยะแรกของการขับเคลื่อน จะเห็นว่า กิจการที่มีการเปิดเผยข้อมูลหรือรายงานแห่งความยั่งยืน ได้มีการเชื่อมโยงสิ่งที่องค์กรดำเนินการและผลประกอบการทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เข้ากับ SDG ในระดับเป้าประสงค์ (Goal-level) 17 ข้อ ขณะที่บางกิจการสามารถเชื่อมโยงไปได้ถึงระดับเป้าหมาย (Target-level) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเข้มข้นในการดำเนินการที่ตอบสนองได้ตรงจุดยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี ความท้าทายสำคัญประการหนึ่ง ในการแสดงให้เห็นถึงการตอบสนองขององค์กรธุรกิจต่อ SDG ด้วยความเชื่อมโยงดังกล่าว ในหลายกรณี ไม่มีความสอดคล้องสัมพันธ์กันระหว่างสิ่งที่องค์กรดำเนินการ กับเป้าหมาย SDG ที่เชื่อมโยงไปถึง เป็นเพียงความพยายามในการจัดให้เข้าพวก ด้วยชื่อหรือหัวข้อที่อนุมานเองว่าน่าจะมีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่เชื่อมโยง มิได้ตอบโจทย์เป้าหมายตามจริง

ในทางกลับกัน อุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เมื่อองค์กรธุรกิจพยายามที่จะตอบโจทย์ให้ตรงกับเป้าหมาย โดยลงไปพิจารณารายละเอียดของ SDG ในระดับตัวชี้วัด (Indicator-level) แต่กลับพบว่า ตัวชี้วัด SDG นั้นๆ นำมาใช้ไม่ได้ (Not applicable) กับภาคธุรกิจ อาทิ เป็นตัววัดที่กำหนดให้ดำเนินการโดยรัฐ จึงไม่สามารถอ้างอิงได้เต็มปากว่า สิ่งที่องค์กรดำเนินการและต้องการเปิดเผยข้อมูลให้มีความเชื่อมโยงไปสู่ SDG ข้อดังกล่าว สามารถตอบสนองต่อ SDG เป้านั้นได้จริง แม้ว่าชื่อหรือหัวข้อดูจะมีความเกี่ยวข้องกันอยู่ก็ตาม

ด้วยความท้าทายและอุปสรรคสำคัญข้างต้น องค์การสหประชาชาติ โดยคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างรัฐบาลด้านมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการบัญชีและการรายงาน (ISAR) ภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) ซึ่งมีที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการ ได้จัดทำชุดตัวบ่งชี้การดำเนินงานหลัก GCI1 เผยแพร่ในปี ค.ศ.2019 และออกฉบับปรับปรุงในปี ค.ศ.2022

ชุดตัวชี้วัด GCI จัดทำขึ้น เพื่อใช้เป็นจุดตั้งต้นหรือจุดนำเข้าในการรายงานผลการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อ SDG และถือเป็นการเปิดเผยข้อมูลขั้นต่ำ (Minimum Disclosures) ของกิจการ ที่แสดงถึงการมีส่วนในการตอบสนองต่อ SDG และเป็นตัวชี้วัดที่กิจการจำเป็นต้องใช้ในการประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล ซึ่งหาพบได้ในรายงานของกิจการ และในกรอบการรายงานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน


GCI Core Indicators

จากเดิมที่การตอบสนองต่อ SDG องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ แสดงความเชื่อมโยงของการดำเนินการไปที่ระดับเป้าประสงค์ (Goal-level) 17 ข้อ และกิจการอีกบางส่วน แสดงความเชื่อมโยงไปได้ถึงระดับเป้าหมาย (Target-level) แต่ด้วยการอ้างอิงชุดตัวชี้วัด GCI จะเป็นครั้งแรกที่ภาคธุรกิจ สามารถแสดงความเชื่อมโยงของการดำเนินงานไปถึงระดับตัวชี้วัด (Indicator-level) ตามแนวทางที่องค์การภายใต้สหประชาชาติให้ความเห็นชอบ2 และแนะนำให้ใช้เป็นข้อมูลแสดงความก้าวหน้าของการดำเนินงานตามตัวชี้วัด SDG ที่ 12.6.13


วีดิทัศน์: SDG Impact Disclosure Webinar




• เอกสารนำเสนอ: SDG Impact Disclosure Presentation



--------------------------------------
1 Guidance on Core Indicators for Sustainability and SDG Impact Reporting.
2 The Intergovernmental Working Group of Experts on International Standards of Accounting and Reporting (ISAR) is the UN focal point on enterprise accounting and reporting issues established in 1982 by the United Nations Economic and Social Council (ECOSOC). UNCTAD is the Secretariat of the ISAR.
3 In September 2019, the indicator was reclassified to Tier II indicator, which means that development of an internationally recognized methodology has been approved for the further data collection since 2020.