Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

Sustainable Finance

Home      Investment      Insurance      Banking      Services

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาคการเงินในฐานะที่เป็นตัวกลางในการจัดสรรเงินทุนในระบบเศรษฐกิจ เป็นหนึ่งในภาคส่วนสำคัญที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคมโลก หน่วยงานในภาคการเงินในแต่ละประเทศได้นำแนวทางการดำเนินงานที่คำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) มาผนวกในกระบวนการตัดสินใจลงทุน การพิจารณาให้สินเชื่อ การออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และการประกันภัย ฯลฯ

ในประเทศไทย หน่วยงานทางการเงินทั้งในภาครัฐและในภาคเอกชน ได้ขานรับเอาแนวทาง ESG ดังกล่าว มาใช้เป็นกรอบการดำเนินงาน ในอันที่จะตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคมโลก ควบคู่ไปกับการพัฒนาความยั่งยืนขององค์กร ให้สามารถปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงและคงไว้ซึ่งขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว

หลักการสำคัญที่เกี่ยวกับ ESG ในภาคการเงิน ประกอบด้วย
1)หลักการลงทุนที่รับผิดชอบ (Principles for Responsible Investment: PRI) ที่ได้รับการผลักดันโดยอดีตเลขาธิการสหประชาชาติ โคฟี อันนัน เมื่อปี ค.ศ.2006 โดยมีหน่วยงานในสังกัดสหประชาชาติสองแห่ง ประกอบด้วย โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการเงิน (United Nations Environmental Program Finance Initiative: UNEP-FI) และข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact: UNGC) ให้การสนับสนุน
2)หลักการประกันภัยที่ยั่งยืน (Principles for Sustainable Insurance: PSI) ที่จัดทำโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการเงิน (UNEP-FI) เมื่อปี ค.ศ.2012
3)หลักการธนาคารที่รับผิดชอบ (Principles for Responsible Banking: PRB) ที่จัดทำโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการเงิน (UNEP-FI) เมื่อปี ค.ศ.2019

สถาบันไทยพัฒน์ เห็นว่า หน่วยงานในภาคการเงินไทย นอกจากการนำแนวทางการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนที่ออกโดยหน่วยงานกำกับดูแลในภาคการเงินไทย มาใช้ขับเคลื่อนเพื่อสร้างให้เกิดความยั่งยืนต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในบริบทของประเทศแล้ว ควรที่จะนำหลักการในภาคการเงินที่เป็นสากล มาใช้เป็นกรอบการดำเนินงานที่ยกระดับไปสู่บรรทัดฐานแห่งการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาคและในระดับโลกได้อย่างสอดคล้องเหมาะสมต่อไป