Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

Sustainable Development (SD)


ใครสนใจสังคม (Society)
คืออะไรการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการพัฒนาที่สามารถสนองความต้องการที่จำเป็นของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่กระทบต่อขีดความสามารถในการสนองความต้องการที่จำเป็นของคนในรุ่นต่อไป

คณะกรรมาธิการบรันท์แลนด์ (Brundtland Report) หรือคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ได้จัดทำข้อเสนอแนะการพัฒนารูปแบบใหม่ที่มุ่งลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมไว้ในเอกสารรายงานชื่อว่า อนาคตของเรา ซึ่งเสนอต่อสหประชาชาติในปี ค.ศ.1987 (พ.ศ. 2530) อันเป็นที่มาของแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ตามนิยามข้างต้น

คณะกรรมาธิการบรันท์แลนด์ ถูกตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1984 (พ.ศ.2527) จากข้อมติของสมัชชาสหประชาชาติที่มีต่อกระบวนการเตรียมตัวด้านสภาวะแวดล้อม นับจากปี ค.ศ.2000 เป็นต้นไป อันเป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ (United Nations Conference on the Human Environment - UNCHE) ที่จัดขึ้น ณ กรุงสตอกโฮล์ม ราชอาณาจักรสวีเดน ในระหว่างวันที่ 5-16 มิถุนายน ค.ศ.1972 (พ.ศ.2515) ซึ่งเป็นการประชุมที่มีผู้แทนระดับผู้นำประเทศ ประมุขของรัฐ หัวหน้าคณะรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ระดับสูงจาก 113 ประเทศเข้าร่วม

การประชุมในครั้งนั้น เป็นการประชุมระดับโลกทางด้านสิ่งแวดล้อมครั้งแรก ที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากประเทศต่างๆ ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศที่กำลังพัฒนา โดยที่ประชุมร่วมกันเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ตระหนักถึงวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาแบบมุ่งเน้นด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว การใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยและเกินขีดจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติ ในขณะที่ประชากรในประเทศยากจนยังคงมีความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรในระดับที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพได้

ในแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมในมาตรฐานระหว่างประเทศ ISO26000 ได้ระบุไว้ว่า วัตถุประสงค์ของการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การบรรลุสถานะแห่งความยั่งยืนของโลกและสังคมโดยรวม มิใช่เพื่อความยั่งยืนหรือความสามารถในการอยู่รอดขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง1

องค์การแห่งสหประชาชาติ ได้ประกาศให้มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ในการประชุมสุดยอดว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Summit) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 25-27 กันยายน ค.ศ. 2015 (พ.ศ.2558) ซึ่งจัดขึ้นในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 70 โดยมีผู้แทนระดับผู้นำประเทศ ประมุขของรัฐ หัวหน้าคณะรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ระดับสูงจาก 193 ประเทศเข้าร่วม เพื่อสานต่อภารกิจที่ยังไม่บรรลุผลสำเร็จภายใต้เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มีจำนวน 17 ข้อ ประกอบด้วยการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาในเรื่อง (1) ความยากจน (2) ความหิวโหย (3) สุขภาวะ (4) การศึกษา (5) ความเท่าเทียมทางเพศ (6) น้ำและการสุขาภิบาล (7) พลังงาน (8) เศรษฐกิจและการจ้างงาน (9) โครงสร้างพื้นฐานและการปรับให้เป็นอุตสาหกรรม (10) ความเหลื่อมล้ำ (11) เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ (12) แบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (13) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ (14) ทรัพยากรทางทะเล (15) ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ (16) สังคมและความยุติธรรม (17) หุ้นส่วนความร่วมมือและการปฏิบัติให้เกิดผล

แผนภาพ: 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน


17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน


ในส่วนของภาคเอกชน การนำ SDGs มาใช้เป็นแนวทางประกอบการดำเนินงานทางธุรกิจ ไม่ได้เป็นเรื่องข้อกำหนด หรือเป็นภาคบังคับที่จะต้องปฏิบัติ แต่เป็นสิ่งที่กิจการหลายแห่ง ลุกขึ้นมาดำเนินการโดยสมัครใจ ซึ่งแน่นอนว่า กิจการเหล่านั้น จะต้องมีแรงจูงใจ หรือเห็นผลได้บางอย่าง ที่เป็นคุณค่าแก่กิจการ นอกเหนือจากประโยชน์ที่จะตกกับสังคม (และสิ่งแวดล้อม)

ทั้งนี้ ผลได้หลักๆ 5 ประการ จากการนำ SDGs มาใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานทางธุรกิจ ประกอบด้วย

ประการแรก ช่วยให้กิจการสามารถระบุถึงโอกาสทางธุรกิจในอนาคต ที่ซึ่งความท้าทายต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก ได้กลายเป็นโอกาสตลาดสำหรับธุรกิจที่สามารถพัฒนาและส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่มีนวัตกรรมและประสิทธิผล

ประการที่สอง ช่วยให้กิจการเพิ่มคุณค่าด้านความยั่งยืน ด้วยการผนวกข้อพิจารณาด้านความยั่งยืนเข้าในห่วงโซ่คุณค่าตลอดสาย ซึ่งจะเอื้อให้องค์กรสามารถสร้างและคงคุณค่าไว้ในตัวกิจการเอง ทั้งในเรื่องการเพิ่มยอดขาย การพัฒนาส่วนตลาดใหม่ๆ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ตราสินค้า การปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน การกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมในตัวผลิตภัณฑ์ และการลดอัตราการเข้าออกของพนักงาน เป็นต้น

ประการที่สาม ช่วยให้กิจการกระชับความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียและทันต่อพัฒนาการทางนโยบาย เพราะ SDGs เป็นเครื่องสะท้อนความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย เช่นเดียวกับทิศทางของนโยบายในอนาคตทั้งในระดับระหว่างประเทศ ระดับประเทศ และระดับภูมิภาค

ประการที่สี่ ช่วยให้กิจการมีเสถียรภาพในตลาดและสังคม เนื่องจากธุรกิจไม่สามารถที่จะประสบความสำเร็จในสังคมที่ล้มเหลว การลงทุนเพื่อการบรรลุ SDGs จะเป็นเสมือนเสาค้ำยันให้ธุรกิจประสบความสำเร็จด้วย

ประการที่ห้า ช่วยให้กิจการมีภาษากลางและความมุ่งประสงค์ร่วมกัน เนื่องจาก SDGs ได้ถูกนำมาใช้กำหนดเป็นกรอบร่วมสำหรับการดำเนินงานและการสื่อสารระหว่างกิจการกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ให้สามารถรับทราบถึงผลการดำเนินงานและผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิผลและเห็นพ้องต้องกัน

จะเห็นว่า การนำ SDGs มาใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานทางธุรกิจ นอกจากจะทำให้ธุรกิจมีการดำเนินงานที่เป็นไปอย่างรับผิดชอบ (Act Responsibly) ในอันที่จะดูแลผลกระทบเชิงลบ มิให้เกิดเป็นความเดือดร้อนเสียหายต่อสังคมแล้ว ยังสามารถเอื้อให้เกิดการแสวงหาโอกาส (Find Opportunities) ในอันที่จะสร้างเป็นผลกระทบเชิงบวก ทั้งแก่ธุรกิจและสังคมควบคู่ไปพร้อมกันด้วย

CSR กับ SD เหมือนหรือต่างกัน



ตำแหน่งของ SD ในมณฑลแห่งความยั่งยืน

 


หนังสือ "Corporate SDG Impact: From Purpose to Performance" ความหนา 70 หน้า แนวทางการนำเสนอข้อมูลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กรธุรกิจให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ภายใต้บริบทของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และใช้เป็นเครื่องวัดการดำเนินงานในระดับกิจการ เพื่อให้ได้ข้อมูลในระดับตัวชี้วัด (Indicator-level SDGS) ที่มีความคล้องจองกับข้อมูล SDGs ที่รัฐบาลจัดเก็บในระดับประเทศ (รายละเอียด)

 


หนังสือ "SDG Business: Corporate Action on Sustainable Development ความหนา 72 หน้า เอกสารตั้งต้นสำหรับภาคเอกชนในการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) พร้อมแนวทางการดำเนินงานของภาคธุรกิจใน 5 ขั้นตอนที่สนับสนุนการตอบโจทย์การแก้ปัญหาที่ระบุในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ (ดาวน์โหลดหนังสือ)




--------------------------------------
1 According to ISO 26000, the objective of sustainable development is to achieve sustainability for society as a whole and the planet. It does not concern the sustainability or ongoing viability of any specific organization. The sustainability of an individual organization may, or may not, be compatible with the sustainability of society as a whole, which is attained by addressing social, economic and environmental aspects in an integrated manner.