Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ต่อยอด CSR Day สู่ระดับผู้นำ-กรรมการ


เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีการเปิด ตัว “โครงการ CSR Day for Director” ซึ่งมีความสำคัญมากที่สุดและความสำเร็จของโครงการนี้จะส่งผลให้กระบวนการขับ เคลื่อนธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมเกิดขึ้นอย่างมีทิศทางที่ถูกต้อง เกิดเป็นจริง

โครงการนี้สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดเพื่อผู้บริหารระดับสูงและกรรมการบริษัท นับเป็นต่อยอดความสำเร็จในการทำโครงการ CSR DAY สำหรับพนักงานในปีที่ผ่านมามีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และธุรกิจทั่วไปเข้าร่วมในกิจกรรม CSR DAY แล้ว 120 แห่ง รวมแล้วมีพนักงานที่เข้าร่วมกิจกรรมแล้วกว่า 5,000 คน

โครงการ CSR DAY for Directors ที่จะเริ่มปีนี้ เน้นการวางนโยบายและการกำกับดูแลความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ เพื่อให้คณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงได้ขับเคลื่อนองค์กรด้วยความรับผิด ชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยมีบริษัทจดทะเบียนที่มีความโดดเด่นในการดำเนิน งานด้าน CSR ได้แก่ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และ บมจ. บางจากปิโตรเลียม ให้การสนับสนุนโครงการ

ชัยยุทธ์ ชำนาญเลิศกิจ ผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) และรองกรรมการผู้อำนวยการสถาบันกองทุนเพื่อพัฒนาตลาดทุน ศูนย์พัฒนาธุรกิจตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ชี้แจงว่า หลักการสำคัญ เรื่องการมีธรรมาภิบาลในองค์กร หรือ CG นั้นสอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานสากลด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 ซึ่งเกี่ยวโยงตั้งแต่ระดับนโยบายของคณะกรรมการและผู้บริหาร ลงมายังระดับปฏิบัติงาน คือ พนักงานทั้งองค์กร

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และเกิดผลต่อเนื่องในการทำโครงการ CSR ดังนั้น CSRI ซึ่งสนับสนุนการพัฒนา CSRขององค์กรธุรกิจด้วยแนวคิด “ธุรกิจช่วยธุรกิจให้ทำ CSR ให้เป็น” ซึ่งได้ดีแทค และบางจากที่เป็นองค์กรภาคธุรกิจที่มีความเข้มแข็ง และเห็นความสำคัญในการทำ CSR ร่วมกันเป็นผู้นำในการสนับสนุนให้เพื่อนๆ ในวงการธุรกิจสามารถทำ CSR ได้ดีเช่นกัน

หัวใจของโครงการ CSR Day คือการกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของการผูกพันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder Engagement) ว่าทั้งระดับพนักงาน และระดับนโยบายได้มีส่วนร่วมสร้างจุดยืนเชิงยุทธศาสตร์ (positioning) ขององค์กร

“การแข่งขันในอนาคตจะเป็นการแข่งขันในระดับโลกแล้ว ดังนั้น การยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและ สิ่งแวดล้อมจึงมีความสำคัญที่ระดับผู้นำองค์กรจะต้องเริ่มหันมาให้ความสนใจ ได้”

ขณะที่ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการ สถาบัน ไทยพัฒน์ กล่าวว่างาน CSR Day ในปีที่แล้ว ผลความสำเร็จ คือการปรับทัศนคติของพนักงานที่เข้าร่วมจากเดิมที่มองว่า CSR ไม่ได้เกี่ยวกับตนเอง มามองว่าการทำงานของตนเองที่เป็นปกติทุกวันต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย

แต่รูปแบบโครงการ CSR Day for Directors จะต่างไป ทั้งในแง่เนื้อหา เวลาที่สั้นลง และรูปแบบจะไม่เน้นเป็นการจัด Workshop หรือกิจกรรมสร้างความรับรู้เรียนรู้เหมือนในระดับพนักงาน เราจะจัดเป็นการเฉพาะผู้บริหารระดับสูง โดยสามารถบรรจุเป็นวาระหนึ่งในการประชุมคณะกรรมการ

เนื้อหาเริ่มจากการให้ข้อมูล หรือหลักการ (Principle) ของ CSR ในมิติต่างๆ ครอบคลุมทุกด้าน รวมทั้งเกณฑ์มาตรฐานสากลต่างๆ ISO 26000, GRI, UN Global Compact และเข้าสู่การนำข้อมูลนั้นมาสู่การวางแนวนโยบายที่เหมาะสม สอดคล้องกับองค์กร

กลยุทธ์ CSR ก็เช่นเดียวกับหลักการตลาด 1) การกำหนดนโยบาย CSR (Segmentation) ด้านใด โดยเลือกประเด็นที่ต้องการมีบทบาทที่แตกต่างกัน 2) กลุ่มเป้าหมาย (Target Market) คือStakeholder Identificationm และมีส่วนผูกพัน (engagement) ซึ่งจะซับซ้อนมากกว่าการมุ่งไปเพียงลูกค้าเพียงอย่างเดียว 3) Positioning คือ การกำหนดบทบาทและจุดยืนขององค์กรในการทำ CSR ดูว่าขอบข่ายขององค์กรมีทั้งสถานะผู้นำและผู้ตาม ใน Supply Chain และจากนั้นจะแปลงสู่แนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม (Practical) และเกิดผลสำเร็จ“โครงการนี้ยังเป็นการผนึก พลังให้เกิดกำลังของ CSR Directors ซึ่งจะเป็นเครือข่ายที่ ผู้นำสุดยอดองค์กรต่างๆ อาจจะได้มาร่วมกันขับเคลื่อนในเวทีต่างๆ ที่ต่อเนื่องกันในอนาคตได้" ดร.พิพัฒน์ กล่าว

ส่วน วัฒนา โอภานนท์อมตะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. บางจากปิโตรเลียม มองว่าปัจจัยสำคัญในการทำ CSR ให้ประสบผลสำเร็จ คือการทำให้ CSR อยู่ในกระบวนการทำธุรกิจ (CSR in Process) ฝังในสายเลือดของทุกๆ คนในองค์กร หรือเรียกว่ากลายเป็น “วัฒนธรรมองค์กร” ซึ่งจะผลักดันให้เกิดผลระดับที่จะกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรได้นั้น จำเป็นต้องอาศัย “ผู้นำองค์กร” เป็นผู้ขับเคลื่อน โครงการนี้จะช่วยตอบโจทย์ดังที่กล่าวได้

การทำ CSR ในแต่ละองค์กรที่ดีแล้ว สิ่งสำคัญ คือ “การประสานพลังร่วมของภาคธุรกิจ” ถ้าCSR จะเปรียบเทียบเป็นยุค 1G คือการทำ CSR แบบบริจาค 2G คือพัฒนาการทำ CSR มาอยู่ในกระบวนการธุรกิจ (CSR in Process) ยุค 3G คือการทำ CSR ร่วมกันเป็นเครือข่าย ซึ่งย่อมจะเกิดผลลัพธ์ที่สำเร็จมากกว่า

พีระพงษ์ กลิ่นละออ ผู้อำนวยการสำนักงานสำนึกรักบ้านเกิด บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ขอให้มองการทำ CSR เป็นวงจรปฏิบัติที่เป็น “เรื่องปกติ” ซึ่งจะทำให้ช่องระหว่าง นโยบาย และการปฏิบัติเข้าใกล้กันจนเกิดวงจรที่หมุนได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช้เป็นแค่กิจกรรมเพียงอย่างเดียว ที่ไม่เกิดผลอย่างแท้จริง หรือเป็นเพียง นโยบาย ที่วางไว้บนหิ้งที่ไม่เกิดการปฏิบัติจริง

“CSR day for directors จะช่วยต่อยอด และเติมเต็มผลสำเร็จของการทำ CSR อย่างครบวงจร ซึ่งจะทำให้เกิดทำ CSR เป็นเรื่องปกติ และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน” ความเห็นเชิงสรุปของ พีระพงษ์

ข้อคิด...

เพราะโครงการนี้มุ่งกลุ่มเป้าหมาย คือคณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารระดับสูงองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจไทย อีกทั้งผ่านการคัดสรรและมีกลไกกำกับดูแลเพื่อให้มีความมั่นคง น่าเชื่อถือ และเป็นกิจการที่ดีให้สมกับการได้สิทธิประโยชน์ของภาษีและสิทธิในการระดม เงินจากมหาชนมาเสริมพลังการดำเนินกิจการ

หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือการมีธรรมมาภิบาลโดยการบริหารจัดการด้วยความซื่อสัตย์ ถูกต้อง เป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้

กลุ่มบุคคลที่มีพันธะกิจในการสร้างเสริมคุณลักษณะการเป็นองค์กรที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และคุณธรรมให้เกิดขึ้น เริ่มที่จุดยืนการใฝ่ดีมีคุณธรรมของคณะกรรมการ (Directors) ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ถือหุ้นเพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและควบคุมกำกับ ดูแลฝ่ายบริหาร (Management) ให้มียุทธศาสตร์และยุทธวิธีทางธุรกิจตามนโยบายของคณะกรรมการ

การริเริ่มโครงการ CSR Day ในช่วงปีที่ผ่านมา มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม และปรับทัศนคติการมีส่วนร่วมของพนักงานทั้งองค์กร นับเป็นพื้นฐานที่ดี แต่เมื่อมีการต่อยอดขึ้นไปถึง “ส่วนหัว” คือกลุ่มผู้บริหารระดับสูง และผู้นำองค์กร โดยเฉพาะคณะกรรมการบริษัทให้มี “ความเข้าใจ” และ “ความเชื่อ” ต่อการดำเนินกิจการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การนำองค์กรและการสนับสนุนบทบาทด้าน CSR จะมีเอกภาพและมีพลัง

องค์กรก็จะมีทิศทางไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอยากคบ-ค้าด้วย


[Original Link]