Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

CSR กับ SD เหมือนหรือต่างกัน


ในแวดวงของผู้ที่ทำ CSR (Corporate Social Responsibility) ปัจจุบัน จะเริ่มได้รับคำถามที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่อง SD (Sustainable Development) ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ บทความตอนนี้ จะพยายามอธิบายให้เห็นภาพความเกี่ยวเนื่องและความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ กับเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน

ปัญหาเรื่องความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมที่สะสมต่อเนื่องมาในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ได้เป็นแรงผลักดันให้เกิดแนวคิดของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเริ่มจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ (UNCHE) เมื่อปี 2515 ที่จุดประกายให้เรื่องสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในประชาคมระหว่างประเทศ และนำไปสู่การจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบทางด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศต่าง ๆ รวมถึงการจัดตั้งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP)

ต่อมาในปี 2535 ในการประชุมสุดยอดโลก (Earth Summit 1992) ทำให้มีข้อสรุปที่สำคัญเกิดขึ้นหลายประการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีการระบุถึงบูรณาการระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมควบคู่ไปกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และกล่าวถึงกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนาบรรลุถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในปี พ.ศ. 2545 ได้มีการจัดประชุมสุดยอดระดับโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (WSSD) ซึ่งประเทศสมาชิกจำนวน 180 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยได้ลงนามรับรองปฏิญญาโจฮันเนสเบอร์กในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นเอกสารประกาศเจตนารมณ์ทางการเมืองของประเทศต่างๆ ที่จะร่วมกันปฏิบัติตามพันธกรณีและมาตรการจากผลการประชุม Earth Summit 1992 ให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม

หลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งนิยามโดย Brundtland Commission เมื่อปี พ.ศ.2530 ระบุว่า เป็น “การพัฒนาที่สามารถสนองความต้องการที่จำเป็นของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่กระทบต่อขีดความสามารถในการสนองความต้องการที่จำเป็นของคนในรุ่นต่อไป” ซึ่งแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนจะคำนึงถึงมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่มีความเชื่อมโยงกัน หรือกล่าวได้ว่า แนวคิดแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน มีลักษณะที่สำคัญ 3 ประการ คือ

1) เป็นเรื่องของการพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมภายใต้ข้อจำกัดทางสภาพแวดล้อมที่ไม่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการสนองความต้องการที่จำเป็นของคนในรุ่นต่อไป

2) คำนึงถึงมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่มีความเชื่อมโยงกัน เช่น การขจัดความยากจน จำเป็นต้องคำนึงถึงการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและความเป็นธรรมทางสังคมประกอบกัน

3) มุ่งหมายที่จะบรรลุถึงสถานะแห่งความยั่งยืนของสังคมโลกโดยรวม ไม่ใช่เพื่อความยั่งยืนหรือความสามารถในการอยู่รอดขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง ซึ่งหมายรวมถึง วิถีการบริโภคอย่างยั่งยืน และแหล่งทรัพยากรที่ยั่งยืน

สถานะแห่งความยั่งยืนนั้น ถูกจัดให้เป็น “ผล” การดำเนินงาน ขณะที่ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ จะเป็นปัจจัยหลักหรือ “เหตุ” ที่เกื้อหนุนให้ได้มาซึ่งความยั่งยืนจากการประกอบการที่คำนึงถึงความรับผิดชอบทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ด้วยเหตุนี้ ความรับผิดชอบต่อสังคมกับการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น จึงมิใช่เรื่องเดียวกัน แต่มีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างใกล้ชิด โดยที่ CSR จะประกอบด้วยคุณลักษณะที่เกี่ยวเนื่องกับ SD อยู่ 3 ประการ คือ

1) เป็นเรื่องระดับองค์กรที่คำนึงถึงการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีส่วนสนับสนุนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน

2) การสร้างความยั่งยืนหรือขีดความสามารถในการอยู่รอดขององค์กร อาจมีวิธีการที่แตกต่างหรือสวนทางกับการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยรวม

3) สามารถใช้เป็นเครื่องมือขององค์กร ทั้งในการสร้างความยั่งยืนให้แก่องค์กร และในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ กลไกสำคัญซึ่งนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคธุรกิจ ได้แก่ ความรับผิดชอบต่อสังคม ที่ไม่ใช่เพียงแค่การทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่อยู่นอกกระบวนการธุรกิจ หรือเพียงเพื่อประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์องค์กร แต่ต้องสามารถผนวกความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าไปในทุกกระบวนการทางธุรกิจจนพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของขีดความสามารถขององค์กร


[Original Link]