Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

จาก CSR สู่ CSV ถึงเวลา...ปลุกธุรกิจสร้างคุณค่าร่วม


ส่วนหนึ่งของการแถลงทิศทางซีเอสอาร์ปี 2557 มีการเสวนาเรื่อง "CSV : กลยุทธ์สร้างคุณค่าร่วมระหว่างธุรกิจกับสังคม" มี "สุธิชา เจริญงาม" และ "วีรญา ปรียาพันธ์" ทั้งสองเป็นกรรมการบริหารสถาบันไทยพัฒน์ และ Certified Shared Value Consultantเป็นวิทยากร

"CSV" หรือ "Creating Shared Value" เป็นแนวคิดที่ถูกบัญญัติโดย "Michel E. Poter" ปรากฏเป็นครั้งแรกในบทความที่เขียนร่วมกับ "Mark Kramer" ชื่อว่า "The Link Between Competitive Advantage and Corporate Social Responsibility" โดยให้คำนิยาม CSV เป็นการพัฒนาเชิงสังคมในวิถีของการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ ด้วยรูปแบบทางธุรกิจ กล่าวคือ การสร้างคุณค่าร่วมต้องผนวกเข้ากับความสามารถในการแสวงหากำไร และการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันขององค์กร โดยใช้ทรัพยากรและความเชี่ยวชาญหลักของกิจการในการสร้างคุณค่าเชิงเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกัน

ถึงแม้ CSV จะมีแนวคิดที่มีรากฐานมาจากเรื่อง CSR แต่จุดแตกต่างระหว่าง CSR กับ CSV คือ คุณค่าที่องค์กรได้รับ โดยในบริบทของ CSR เป็นเรื่องของการยอมรับภาพลักษณ์ ชื่อเสียง หรือปัจจัยที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ส่วนคุณค่าที่องค์กรได้รับในบริบทของ CSV จะเป็นเรื่องของการได้มาซึ่งความสามารถในการสร้างผลกำไรระยะยาว

นอกจากนี้ เอกลักษณ์ของ CSV ยังมุ่งเน้นเรื่องหรือประเด็นทางสังคมที่เปิดโอกาสให้เกิดการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์และความเชี่ยวชาญขององค์กรเป็นสำคัญ

"วีรญา" กล่าวว่า การพิจารณาว่าสิ่งที่ทำเป็น CSV หรือไม่ มองได้จาก 3 ปัจจัยประกอบกัน คือ สร้างให้เกิดโอกาสหรือผลตอบแทนทางธุรกิจ, ตอบสนองต่อประเด็นปัญหา หรือความจำเป็นทางสังคมที่จำเพาะเจาะจง และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและความเชี่ยวชาญหลักขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดประสิทธิผล

สำหรับองค์ประกอบที่ช่วยในการออกแบบแผนงานการสร้างคุณค่าร่วม ได้แก่

1)การพัฒนากรณีทางธุรกิจ หรือ Business Model เพื่อจะได้เห็นว่าเมื่อลงทุนแล้วจะมีการเพิ่มคุณค่าให้กับธุรกิจและสังคม
2)การเข้าไปมีส่วนร่วมกับหุ้นส่วนดำเนินการภายนอก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสามารถขยายพื้นที่ดำเนินการได้
3)กำหนดกิจกรรมและเม็ดเงินลงทุนสำหรับการขับเคลื่อน
4)จัดโครงสร้างทรัพยากรและการจัดการภายในองค์กรเพื่อรองรับการดำเนินงาน
5)กำหนดและติดตามวัดผลลัพธ์ทางธุรกิจ และผลลัพธ์ทางสังคม

ส่วนวิธีการสร้างคุณค่าร่วมแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ

1)ระดับของการคิดค้นผลิตภัณฑ์ขึ้นใหม่ที่เป็นความต้องการของสังคม โดยเฉพาะกับตลาดหรือกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง เป็นการส่งมอบคุณค่าให้สังคมโดยตรงผ่านตัวสินค้าและบริการ ขณะที่ธุรกิจได้รับคุณค่าในรูปของส่วนแบ่งการตลาด, การเติบโต
2)ระดับของการกำหนดบรรทัดฐานใหม่ในเรื่องผลิตภาพ โดยให้ความสำคัญกับประเด็นทางสังคมตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) โดยใช้ประเด็นทางสังคมมาเป็นโจทย์ในการพัฒนาผลิตภาพร่วมกับคู่ค้าและหุ้นส่วนทางธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่า เป็นการส่งมอบคุณค่าให้สังคมจากการจัดการทรัพยากร, วัตถุดิบ, แรงงาน, ค่าตอบแทน ส่วนธุรกิจได้รับคุณค่าในรูปของประสิทธิภาพ, การบริหารต้นทุน, ความมั่นคงทางวัตถุดิบ, คุณภาพ
3)ระดับของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่นที่เอื้อต่อธุรกิจ ซึ่งส่งมอบคุณค่าให้สังคมด้วยการสร้างงาน, การสาธารณสุข, การศึกษา, เศรษฐกิจชุมชน, สวัสดิการสังคม ขณะที่ธุรกิจได้รับคุณค่าในแง่ของการบริหารต้นทุน, การเข้าถึงปัจจัยการผลิต, การกระจายสินค้าและบริการ

ทั้งนี้ การสร้างคุณค่าร่วมของทุกระดับ ย่อมก่อให้ธุรกิจรับคุณค่าด้านรายได้ และมีความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้น


"สุธิชา" ยกตัวอย่าง Novo Nordisk บริษัทชั้นนำที่ผลิตอินซูลิน ซึ่งมีการสร้างคุณค่าร่วมทั้ง 3 ระดับ โดยเริ่มจากการผลิตอินซูลินให้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานในประเทศจีน หลังจากนั้นได้สร้างโรงงานผลิตอินซูลินที่เทียนจินเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตอินซูลิน และได้ไปร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข และมูลนิธิโรคเบาหวานของประเทศจีนในที่สุด

ในประเทศไทย บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) มีการรับซื้อน้ำมันพืชใช้แล้วมาผลิตเป็นไบโอดีเซล เป็นการรณรงค์ไม่ให้ประชาชนนำนํ้ามันพืชใช้แล้วไปทิ้งในที่สาธารณะ หรือไม่นำไปทอดซํ้า โดยรับซื้อตามตลาดต่าง ๆ หน่วยงานราชการ รวมถึงภาคเอกชน ซึ่งบางจากจะนำนํ้ามันพืชดังกล่าวมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นนํ้ามันไบโอดีเซล และจำหน่ายผ่านสถานีบริการนํ้ามันบางจาก

จากการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2551-2556 ปรากฏว่าบางจากรับซื้อน้ำมันพืชใช้แล้ว 9.43 แสน กก. สามารถนำไปผลิตเป็นไบโอดีเซลได้ 8.06 แสนลิตร ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 634 ตัน รวมถึงยังช่วยประหยัด การนำเข้านํ้ามันจากต่างประเทศได้ถึง 22.6 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนเรื่อง CSV ควรสร้างองค์กรให้เกิดความพร้อมก่อนลงมือปฏิบัติ โดยผู้บริหารต้องให้ข้อยึดมั่น หรือสร้างให้เกิดข้อผูกมัดในระดับองค์กร แล้วจัดวางโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการทำ CSV หลังจากนั้นจึงเฟ้นหาหรือบ่มเพาะบุคลากรให้มีพลังเพื่อนำการขับเคลื่อน

เมื่อสร้างบรรยากาศขององค์กรให้เป็นไปตามเงื่อนไขแล้ว จึงมาดูว่าทรัพยากรที่องค์กรมีอยู่สามารถสร้างคุณค่าได้ในระดับใด พร้อมกันนี้ควรคำนึงถึงการระบุตัวชี้วัดที่เป็นผลลัพธ์ทั้งในเชิงธุรกิจและสังคม ของแผนงานที่สอดคล้องกับระดับการสร้างคุณค่าร่วมที่เลือกดำเนินการด้วย


[Original Link]