Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ก.ล.ต.ต่อยอดดัชนีวัดต้านโกง หนุนบริษัทในตลาดหุ้นยกระดับ


อันดับการต่อต้านคอร์รัปชันของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น ส่วนใหญ่ยังอยู่ระดับ 1-2
ก.ล.ต.หนุนให้ทุกบริษัทเตรียมไต่ระดับสูงขึ้น
เป้าสูงสุดระดับ 5 “ไม่คบคนโกง”

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เผยผลตัวชี้วัดการประเมินความคืบหน้าในเรื่องการต่อต้านการทุจริต (Anti-corruption Progress Indicator) ของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเป็นหนึ่งในการดำเนินงานของ ก.ล.ต. ตามแผนพัฒนาความยั่งยืน ที่เน้นให้บริษัทมีแนวปฏิบัติที่ดี ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมทั้งมีแนวปฏิบัติเพื่อต่อต้านการทุจริตอย่างจริงจัง เป็นต้นแบบให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตาม


จากการประเมินความคืบหน้าในเรื่องการต่อต้านการทุจริตของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด 567 รายพบว่า 344 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 60.67 มีคะแนนอยู่ที่ระดับ 1 ขึ้นไป คือ บริษัทแสดงให้เห็นถึงคำมั่นจากผู้บริหารและขององค์กร ว่ามีนโยบายในการดำเนินธุรกิจที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต ในจำนวนนี้มี 19 บริษัทจดทะเบียน มีคะแนนอยู่ที่ระดับ 4 คือ ได้รับการรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต

การประเมินดังกล่าวช่วยให้บริษัทจดทะเบียนทราบถึงระดับการพัฒนาความยั่งยืนของกิจการในด้านที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริต และสามารถนำผลการประเมินมาพิจารณาประกอบการวางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อป้องกันมิให้บริษัทมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต ส่วนผู้ลงทุนจะได้ทราบความมุ่งมั่นและนโยบายการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตของบริษัท และสามารถหลีกเลี่ยงการลงทุนในบริษัทที่อาจมีความสุ่มเสี่ยงต่อการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต

ทั้งนี้ มีบริษัทที่มิได้เข้าร่วมจัดอันดับ จำนวน 176 บริษัท หรือคิดเป็นร้อยละ 31.04 และมีบริษัทที่มิได้รับการจัดอันดับ จำนวน 47 บริษัท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.29

สำหรับผลการประเมินความคืบหน้าในเรื่องการต่อต้านการทุจริต แบ่งออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ ระดับ 1: มีนโยบาย (Committed) ระดับ 2: ประกาศเจตนารมณ์ (Declared) ระดับ 3: มีมาตรการป้องกัน (Established) ระดับ 4: ได้รับการรับรอง (Certified) และระดับ 5: ขยายผลสู่ผู้ที่เกี่ยวข้อง (Extended)

ข้อมูล Anti-corruption Progress Indicator ที่จัดทำขึ้นนี้ จะช่วยบ่งชี้ความก้าวหน้าและแนวทางการยกระดับให้แก่บริษัทจดทะเบียนในเรื่องการต่อต้านการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม เน้นการนำไปปฏิบัติทั่วทั้งองค์กร ครอบคลุมถึงหุ้นส่วนทางธุรกิจ ที่ปรึกษา ตัวกลาง หรือตัวแทนในการดำเนินธุรกิจของตนเองไม่ให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในทุกรูปแบบ


ก.ล.ต. สนับสนุนสถาบันไทยพัฒน์ เผยผลตัวชี้วัดการประเมินความคืบหน้า
ในเรื่องการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชัน สำหรับบริษัทจดทะเบียนไทย
(Anti-corruption Progress Indicator)

ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่าการประเมินบริษัทจดทะเบียนไทยด้วยตัวชี้วัดความคืบหน้าในเรื่องการป้องกันการมีส่วนร่วมกับคอร์รัปชันที่สนับสนุนให้สถาบันไทยพัฒน์เป็นผู้ประเมินนั้น เป็นหนึ่งในแผนดำเนินงานของ ก.ล.ต.ตามแผนพัฒนาความยั่งยืน ที่เน้นให้บริษัทมีแนวปฏิบัติที่ดีดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมทั้งมีแนวปฏิบัติเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง เป็นต้นแบบให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตามต่อไป

การประเมินดังกล่าวช่วยให้บริษัทจดทะเบียนทราบถึงระดับการพัฒนาตนเองและนำผลการประเมินมาประกอบการคิดกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ส่วนผู้ลงทุนจะได้ทราบความมุ่งมั่นและนโยบายการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชันของบริษัทได้จากรายงานการวิเคราะห์หลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งจะนำการประเมิน Anti-corruption Progress Indicator ไปใช้ด้วย

สำหรับผลการประเมินและพัฒนาการของบริษัทจะมีการเผยแพร่บนเว็บไซต์ CG Thailand ทั้งผลการประเมินในระดับประเทศและรายบริษัทจดทะเบียน นอกจากนี้ ผู้ลงทุนในกองทุนรวมมีส่วนร่วมสนับสนุนบริษัทที่มีนโยบายดังกล่าวได้ ผ่านการลงทุนในกองทุนที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนได้เปิดเผยข้อมูลการลงทุนในบริษัทที่มีนโยบายในเรื่องนี้ ในปัจจุบันมีบริษัทที่ยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลให้ทราบถึงเจตนาที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชันจำนวนกว่า 200 บริษัท ซึ่ง ก.ล.ต.มีแผนส่งเสริมให้บริษัทได้เห็นประโยชน์ของการประเมินต่อไป

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า สถาบันไทยพัฒน์ สนับสนุนการลงมือปฎิบัติให้เกิดผล ตามแนวทาง Anti-corruption in practice ที่ ก.ล.ต.ได้ระบุไว้ในแผนพัฒนาความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียนให้สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นบริษัทต้นแบบที่มีแนวปฎิบัติอย่างจริงจังและสร้างวัฒนธรรมการไม่ทุจริตให้ภาคธุรกิจไทยได้จริง มากกว่าการรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ หรือการผลักดันเป็นข้อเสนอเพียงเพื่อให้ผู้อื่นดำเนินการ โดยมิได้รวมถึงส่วนที่ตนเองต้องดำเนินการ

ด้วยตัวชี้วัด Anti-corruption Progress Indicator ที่จัดทำขึ้น ช่วยบ่งชี้ความก้าวหน้าและแนวทางการยกระดับให้แก่บริษัทจดทะเบียนในเรื่องการต่อต้านการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม เน้นการนำไปปฏิบัติทั่วทั้งองค์กร ครอบคลุมถึงหุ้นส่วนทางธุรกิจ ที่ปรึกษา ตัวกลาง หรือตัวแทนในการดำเนินธุรกิจของตนเองไม่ให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในทุกรูปแบบ

ทั้งนี้ การต่อต้านการทุจริตให้เป็นผลนั้นไม่ได้เกิดจากการบอกให้ผู้อื่นเลิกโกง แต่เกิดจากการทำตัวเองและองค์กรของตนให้ปลอดจากการข้องเกี่ยวกับการโกง เป็นแบบอย่างให้แก่ผู้อื่นได้ทำตาม

อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนการต่อต้านการทุจริตที่ผ่านมา มักเน้นที่การรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ หรือการผลักดันเป็นข้อเสนอเพื่อให้ผู้อื่นดำเนินการ โดยมิได้รวมถึงส่วนที่ตนเองต้องดำเนินการด้วย การจัดอันดับการต่อต้านทุจริตในครั้งนี้ มุ่งเน้นให้เกิดการปฏิบัติโดยเริ่มจากองค์กรตนเอง และขยายครอบคลุมถึงหุ้นส่วนทางธุรกิจ ที่ปรึกษา ตัวกลาง หรือตัวแทนในการดำเนินธุรกิจในระยะต่อไป

ดร.พิพัฒน์ ย้ำว่าการต่อต้านทุจริตเป็นหนึ่งในหัวข้อสำหรับนักลงุทนที่ใช้เกณฑ์ ESG (Environmental, Social, and Governance) ประกอบการตัดสินใจลงทุน ใช้พิจารณาเลือกบริษัทที่จะเข้าลงทุน

ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ เตรียมจะนำหัวข้อการต่อต้านทุจริต มารวมเป็นส่วนหนึ่งของบทวิเคราะห์สำหรับให้เป็นข้อมูลแก่ผู้ลงทุนด้วย

ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลังจากที่ได้เข้าร่วมลงนามใน UN Sustainable Stock Exchange ได้อนุมัติกรอบการพัฒนาความยั่งยืนของ ตลท. ใน 5 ด้าน คือ การสร้างคุณค่าตลาดทุน การบริหารจัดการองค์กร การพัฒนาและดูแลพนักงาน การพัฒนาและดูแลสังคม และการจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมในทุกมิติ และเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับโรดแมปการพัฒนาความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2557-2561) ของสำนักงาน ก.ล.ต.

ทางด้าน วรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด กล่าวว่า บรรดาผู้ลงทุนสถาบัน ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกันภัย บริษัทประกันชีวิต รวมไปถึงผู้ลงทุนสถาบันอย่าง กบข. และ ประกันสังคม ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ผู้ลงทุนเหล่านี้ต่างมีนโยบายในการดำเนินธุรกิจที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน หรือได้ระดับ 1 ไปแล้ว บัดนี้ทุกบริษัทกำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมตัวเพื่อขอรับรองให้เป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) ในระดับที่สูงขึ้นไปอีก

ทั้งหมดนี้ล้วนสะท้อนความตั้งใจมั่นและเอาจริงเอาจังของผู้ลงทุนสถาบันในการต่อต้านคอร์รัปชันด้วยการเริ่มให้องค์กรของตนปลอดจากการข้องเกี่ยวกับการโกง นอกจากนี้ ยังเริ่มมีกองทุนที่จะลงทุนในกิจการที่ปลอดการเกี่ยวข้องกับการโกงเกิดขึ้นแล้ว คือ “กองทุนรวม คนไทยใจดี” หรือ BKIND ของ บลจ.บัวหลวง ซึ่งน่าจะอยู่ในระดับ 5 ได้ เพราะเลือกลงทุนในหุ้นที่ดีมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ “ไม่คบคนโกง”

เชื่อว่าภายในสิ้นปีนี้ ทุกบริษัทจดทะเบียนคงจะเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาของแนวทางการต่อต้านคอรัปชัน และการที่ ก.ล.ต.มีนโยบายส่งเสริมให้บริษัทหลักทรัพย์มีการนำข้อมูลที่เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนครอบคลุมหัวข้อที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และบรรษัทภิบาล รวมทั้งการต่อต้านคอร์รัปชันเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์เผยแพร่แก่นักลงทุนก็จะเป็นผลดีต่อการตัดสินใจลงทุน และเชื่อว่าทั้งระบบน่าจะดีขึ้นเพราะความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่แค่การบริจาค”


[Original Link]