Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

<IR> หลักการและที่มา



สาเหตุที่ภาคธุรกิจนิยมจัดทำและเผยแพร่รายงานแห่งความยั่งยืนตลอดทศวรรษที่ผ่านมา มิใช่เพียงเพราะเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการเปิดเผยข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สำหรับสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และพร้อมต่อการตรวจสอบซักถามเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการปรับปรุงการดำเนินงานในทั้งสามด้านได้อย่างเป็นระบบ โดยมีตัวบ่งชี้การดำเนินงาน และแนวการบริหารจัดการที่ชัดเจน ตามหลักการที่ว่า “เรื่องที่วัดผลได้ยาก จะบริหารจัดการได้ยาก” (You can’t manage what you can’t measure)

ด้วยความที่รายงานแห่งความยั่งยืนได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวาง นอกจากผู้เล่นรายเดิมอย่าง องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล หรือ Global Reporting Initiative (GRI) ที่ได้เพิ่งยกระดับแนวทาง (Guidelines) การรายงานในฉบับ G4 มาเป็นมาตรฐาน (Standards) การรายงานแล้ว ในปัจจุบันได้มีมาตรฐานและกรอบการรายงานภาคสมัครใจ เกิดขึ้นใหม่หลายฉบับ อาทิ กรอบการรายงานเชิงบูรณาการ หรือ Integrated Reporting Framework (IIRC) ทำให้องค์กรธุรกิจมีความจำเป็นที่ต้องศึกษาทำความเข้าใจ และตัดสินใจเลือกกรอบการรายงานที่เหมาะสมในการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนสำหรับองค์กรของตน นอกเหนือจากการเปิดเผยข้อมูลตามข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับดูแลที่เป็นภาคบังคับ ดังเช่นการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในหัวข้อความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ตามแบบ 56-1 ของสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นต้น

GRI (Global Reporting Initiative) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2540 เป็นหน่วยงานที่ให้กำเนิดกรอบการรายงานด้านความยั่งยืนของกิจการฉบับแรก ที่เรียกว่า G1 ในปี พ.ศ.2543 ถัดจากนั้น GRI ได้ประกาศแนวทางการรายงานในฉบับ G2 ที่เวทีการประชุมสุดยอดโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่นครโจฮันเนสเบอร์ก ในปี พ.ศ.2545 และตามมาด้วยฉบับ G3 ในปี พ.ศ.2549 อันเป็นผลจากการยกร่างของบรรดาผู้เชี่ยวชาญกว่า 3,000 คน ทั้งจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคมและผู้แทนภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วม กรอบการรายงานฉบับดังกล่าวได้กลายมาเป็นมาตรฐานตามความนิยม (de facto standard) สำหรับการรายงานแห่งความยั่งยืน และถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยได้มีการปรับปรุงเป็นฉบับ G3.1 ในปี พ.ศ.2554 และพัฒนามาเป็นฉบับ G4 เมื่อปี พ.ศ.2556 จนนำมาสู่การยกระดับเป็นมาตรฐานการรายงาน GRI ในปี พ.ศ.2559

IIRC (International Integrated Reporting Council) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2553 จากความริเริ่มในชื่อเดิมว่า Accounting for Sustainability Project (A4S) ซึ่งมี GRI เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง (ปัจจุบัน ประธานของ IIRC ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกิตติคุณของ GRI และมีซีอีโอของ GRI อยู่ในคณะกรรมการของ IIRC) โดยคณะกรรมการกำกับดูแลในยุคก่อตั้ง ประกอบด้วยองค์กรสมาชิกที่มาจากสถาบันการเงินหรือสมาคมหรือกิจการด้านการเงินจำนวน 31 รายจากทั้งหมด 53 ราย (คิดเป็นร้อยละ 58) จัดตั้งองค์คณะขึ้นทำการยกร่างและประกาศกรอบการรายงานเชิงบูรณาการ (Integrated Reporting Framework) ในปี พ.ศ.2556 และเป็นฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน