Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

รายงาน "6 ทิศทาง CSR ปี 2562"


ความตื่นตัวในเรื่องของการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) มีปัจจัยจากแรงขับดันหลักในสองขั้ว คือ การทำตามกระแส ทั้งที่เกิดจากองค์กรข้างเคียงในอุตสาหกรรม จากคู่ค้าในห่วงโซ่ธุรกิจ และจากกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เป็นขั้วของการทำ CSR ในเชิงรับ กับการทำเพราะเห็นคุณค่า ที่เกิดจากการได้ประโยชน์ร่วมทั้งแก่องค์กร (อาทิ ช่วยลดความเสี่ยง เพิ่มผลิตภาพ ขยายโอกาสทางธุรกิจ) และสังคม (อาทิ ช่วยกระจายรายได้ เพิ่มทักษะอาชีพคนในชุมชน สิ่งแวดล้อมดีขึ้น) เป็นขั้วของการทำ CSR ในเชิงรุก

สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการสำรวจระดับความก้าวหน้าในการทำ CSR ของบริษัทจดทะเบียนราว 600 บริษัท ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 พบว่า ร้อยละ 73 มีการทำ CSR ในแบบเบื้องต้นที่เป็นเชิงรับ ขณะที่อีกร้อยละ 27 เป็นการทำ CSR ในแบบก้าวหน้าที่เป็นเชิงรุก และตัวเลขในปี พ.ศ.2561 มีสัดส่วนของ CSR แบบเบื้องต้นอยู่ราวร้อยละ 71 และมีสัดส่วนของ CSR แบบก้าวหน้าอยู่ราวร้อยละ 29 คือ มีพัฒนาการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ซึ่งถือว่ายังมีระดับความก้าวหน้าที่ไม่มากนัก

ในขั้วที่ทำตามกระแสนิยม รูปแบบที่เห็นบ่อย คือ เป็นกิจกรรม (Event) รายครั้ง เช่น กิจกรรมรักษ์โลก รวมพลเก็บขยะ ปลูกป่า สร้างฝาย ฯลฯ เป็นกิจกรรมซึ่งสามารถทำเป็นหมู่คณะ เน้นจิตอาสา และสามารถประชาสัมพันธ์ให้เห็นเป็นรูปธรรมง่าย แต่ไม่เกี่ยวกับกระบวนงานทางธุรกิจที่ทำอยู่ปกติ

ในขั้วที่ทำเพราะเห็นคุณค่า รูปแบบที่เกิดขึ้น คือ เป็นกระบวนการ (Process) ที่ต่อเนื่อง เช่น การลดขยะในการผลิต บรรจุภัณฑ์ และการจำหน่ายสินค้า การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ลดการใช้น้ำใช้ไฟ ฯลฯ เป็นกระบวนการซึ่งอยู่ในสายงานหรือการปฏิบัติงานปกติ เน้นปลูกฝังให้อยู่ในหน้าที่ เป็นกิจกรรมรักษ์โลกเหมือนกัน แต่ทำอยู่ในกระบวนการธุรกิจปกติ ซึ่งในแบบหลังนี้ องค์กร จะได้คุณค่าร่วม ในแง่ของการเพิ่มผลิตภาพ การประหยัดต้นทุน นอกเหนือจากการช่วยโลก

ผลที่ได้รับในแบบที่ทำเพราะเป็นกระแส จะเน้นเรื่องการได้มาซึ่ง “ชื่อเสียงและภาพลักษณ์” (Reputation และ Image) ขณะที่ผลลัพธ์ในแบบหลัง จะเน้นเรื่องการได้มาซึ่ง “คุณค่าและผลกระทบ” (Value และ Impact) ทำให้การเปรียบเทียบผลระหว่างสองแบบนี้ จึงวัดกันไม่ได้ตรงๆ เพราะจุดหมายปลายทางต่างกัน

แน่นอนว่า องค์กรที่ต้องการได้ประโยชน์เต็มจากการทำ CSR จะต้องยกระดับจากกิจกรรม (Event) มาเป็นกระบวนการ (Process) นั่นหมายความว่า กิจการเหล่านี้ จำต้องปรับเป้าหมายของการทำ CSR ให้มุ่งไปที่การได้มาซึ่งคุณค่าและผลกระทบมากขึ้นจากเดิม

เรื่อง Value x Impact ถือเป็นแนวทางหลักของการทำ CSR สำหรับองค์กรที่ต้องการได้ประโยชน์เต็มจากการทำ CSR ทั้งในบริบทที่ช่วยตอบโจทย์ความยั่งยืน และช่วยเสริมสร้างผลประกอบการในระยะยาวให้แก่กิจการ

สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการประเมินทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาความยั่งยืนของกิจการ ประจำปี 2562 ภายใต้รายงานที่มีชื่อว่า 6 ทิศทาง CSR ปี 2562: The Power of Sustainability เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับหน่วยงานและองค์กรธุรกิจในการใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานในเรื่อง Value x Impact ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรและความคาดหวังของสังคมควบคู่ไปพร้อมกัน

รายงาน 6 ทิศทาง CSR ปี 2562: The Power of Sustainability มีความหนา 28 หน้า ในเล่มประกอบด้วย

- สารจากประธาน
- สารจากผู้อำนวยการ
- พลังแห่งความยั่งยืน: The Power of Sustainability
- 6 ทิศทาง CSR ปี 2562
- สถาบันไทยพัฒน์กับงานด้านบรรษัทบริบาล

 


ดาวน์โหลดรายงาน
6 ทิศทาง CSR ปี 2562: The Power of Sustainability