Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

COVID-19: Business Resilience Program

Home      Metrics      Program      Resources      Participating Companies


ในเอกสาร ESG Guidance & Metrics ที่จัดทำโดยสมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลก (World Federation of Exchanges) กำหนดให้ประเด็นสุขภาพโลก1 (Global Health) เป็นหนึ่งในประเด็นด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) ที่แนะนำให้บริษัทจดทะเบียนใช้เป็นข้อมูลฐาน (Baseline) สำหรับการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ให้แก่ผู้ลงทุน และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

ปรากฏการณ์โควิด (COVID Effect) ได้ทำให้น้ำหนักความสำคัญต่อประเด็นด้านความยั่งยืนขององค์กรธุรกิจ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยประเด็นเรื่องสุขภาพองค์กร กลายเป็นประเด็นสาระสำคัญเพื่อการพัฒนาสู่ความยั่งยืน และกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินสืบเนื่องไปในระยะยาว (Business Resilience)

องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล หรือ Global Reporting Initiative (GRI) แนะนำให้องค์กรธุรกิจหยิบยกประเด็นด้านสุขภาพขึ้นมาพิจารณาในกระบวนการวิเคราะห์สารัตถภาพ (Materiality Analysis) โดยได้มีการนำ กรอบวัฒนธรรมสุขภาพสำหรับธุรกิจ (Culture of Health for Business Framework) มาใช้เป็นแนวทางสำหรับให้กิจการสามารถผนวกประเด็นด้านสุขภาพ เข้ากับกลยุทธ์องค์กร เพื่อใช้ดำเนินงานหลังสถานการณ์โควิด

กรอบวัฒนธรรมสุขภาพสำหรับธุรกิจ ประกอบด้วย ด้านกลยุทธ์ ด้านนโยบายและสวัสดิการ ด้านแรงงานและสถานประกอบการ และด้านชุมชน โดยมีข้อปฏิบัติทางธุรกิจที่รวมถึงเรื่องอาชีวอนามัยและความปลอดภัย สภาพแวดล้อมทางกายภาพ ข้อปฏิบัติทางการตลาดที่ต้องรับผิดชอบ การประกันสุขภาพ ความมั่นคงในตำแหน่งงาน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมชุมชน เป็นต้น

เพื่อช่วยภาคธุรกิจในการปรับตัวเข้าสู่วิถีปกติใหม่ สถาบันไทยพัฒน์ได้ริเริ่ม Business Resilience Program โดยนำกรอบวัฒนธรรมสุขภาพสำหรับธุรกิจมาเป็นปัจจัยนำเข้าในการวิเคราะห์สารัตถภาพ เพื่อใช้กำหนดประเด็นสาระสำคัญด้านวัฒนธรรมสุขภาพ (COH Material Topics) ที่องค์กรควรดำเนินการ ผนวกไว้ในกลยุทธ์องค์กร สำหรับรองรับการขับเคลื่อนธุรกิจวิถีปกติใหม่ และการเป็นองค์กรพร้อมผัน (Resilient Enterprise) ในทุกสถานการณ์



--------------------------------------
1 หมายถึง ปัญหาหรือข้อกังวลด้านสุขภาพ ที่ข้ามพรมแดน หรือผลจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนอกพรมแดน และเกินขอบเขตและความสามารถของรัฐใดรัฐหนึ่งที่จะดำเนินการได้สำเร็จ ต้องการกลไกที่มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก เพื่อจัดการปัญหาสุขภาพและปัจจัยกำหนดปัญหาเหล่านั้น เช่น โรคติดเชื้อข้ามพรมแดน (อาทิ MERS, SARS, COVID-19) และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ก่อให้เกิดปัญหาข้ามพรมแดน รวมถึงปัญหาจากผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ บุหรี่ เหล้า เป็นต้น