Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ไทยพัฒน์ เปิดผลสำรวจ ESG ของกิจการไทย ปี 2566

พร้อมแนะนำเครื่องมือ Double Materiality ยกระดับความยั่งยืนสู่สากล

สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดผลสำรวจสถานภาพความยั่งยืนของกิจการไทย ในงาน “The State of Corporate Sustainability in 2023” พร้อมแนะนำเครื่องมือประเมิน Double Materiality (ทวิสารัตถภาพ) เพื่อระบุประเด็นสาระสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) สำหรับการพัฒนายกระดับความยั่งยืนของกิจการตามมาตรฐานในระดับสากล

สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งเน้นงานส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการร่วมกับภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง ได้ทำการประมวลข้อมูลความยั่งยืนของกิจการ 904 แห่ง เป็นบริษัทจดทะเบียน 805 แห่ง กองทุนและองค์กรอื่นๆ อีก 99 ราย เพื่อนำเสนอทิศทางและกระแสนิยมของการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนขององค์กร ทั้งในมุมมอง GRI (Global Reporting Initiative), ESG (Environmental, Social and Governance) และ SDGs (Sustainable Development Goals) โดยริเริ่มสำรวจเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2561 และได้ดำเนินการเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน

นายวรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ ได้กล่าวในการเปิดผลสำรวจสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ ปี 2566 ที่จัดขึ้นวันนี้ (21 ธันวาคม 2566) ว่า “ผลการประเมินสถานภาพการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนของกิจการที่ทำการสำรวจทั้งหมด 904 ราย พบว่า ในปี 2566 มีคะแนนรวมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 3.53 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วและปีก่อนหน้าที่มีคะแนนรวมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.46 คะแนน (ปี 2565 จากการสำรวจ 854 ราย) และ 2.2 คะแนน (ปี 2564 จากการสำรวจ 826 ราย)”

นางสาววีรญา ปรียาพันธ์ ผู้อำนวยการประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน สถาบันไทยพัฒน์ กล่าวเสริมว่า “ประเด็นความยั่งยืนที่มีการเปิดเผยสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ ผลเชิงเศรษฐกิจ (GRI 201) การฝึกอบรมและการให้ความรู้ (GRI 404) ความหลากหลายและโอกาสแห่งความเท่าเทียม (GRI 405) ขณะที่ประเด็นด้าน ESG ที่มีการเปิดเผยสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ ความหลากหลายในโครงสร้างคณะกรรมการบริษัท ความเป็นอิสระในคณะกรรมการบริษัท จริยธรรมและการต้านทุจริต ส่วนการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่มีการเปิดเผยสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ เป้าหมายที่ 8 เศรษฐกิจและการจ้างงาน และเป้าหมายที่ 16 สังคมและความยุติธรรม”

นอกจากการเปิดเผยข้อมูลผลสำรวจประจำปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ยังได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง “Double Materiality: The Financial + Impact Disclosure” แนะนำเครื่องมือประเมิน Double Materiality (ทวิสารัตถภาพ) เพื่อระบุประเด็นสาระสำคัญด้าน ESG สำหรับการพัฒนายกระดับความยั่งยืนของกิจการตามมาตรฐาน ESRS (European Sustainability Reporting Standards) โดยคำนึงถึงผลกระทบทางการเงินอันเกิดจากปัจจัยความยั่งยืนที่มีต่อการสร้างคุณค่ากิจการ และผลกระทบอันเกิดจากการดำเนินงานขององค์กรที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปพร้อมกัน

นายฌานสิทธิ์ ยอดพฤติการณ์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า “สารัตถภาพที่ได้ตามการวิเคราะห์ทางการเงิน (Financial Materiality) จะเป็นข้อมูลส่วนที่สนองความต้องการของผู้ลงทุนและผู้ถือหุ้น (Shareholders) ที่มุ่งตอบโจทย์ความยั่งยืนของกิจการ ขณะที่สารัตถภาพที่ได้ตามการวิเคราะห์ผลกระทบ (Impact Materiality) จะเป็นข้อมูลส่วนที่สนองความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ที่มุ่งตอบโจทย์ความยั่งยืนโดยรวม”

ในงานครั้งนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ยังจัดพิธีมอบรางวัล Sustainability Disclosure Award ประจำปี 2566 ให้แก่องค์กรสมาชิกประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน (Sustainability Disclosure Community: SDC) ที่ได้เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนอันประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ โดยรางวัลที่มอบให้กับองค์กรในปีนี้ ประกอบด้วย Sustainability Disclosure Award จำนวน 54 รางวัล Sustainability Disclosure Recognition จำนวน 50 รางวัล และ Sustainability Disclosure Acknowledgement จำนวน 28 รางวัล



สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
สถาบันไทยพัฒน์: จินตนา จันสน / ปิยเลขา ไหล่แท้ โทร 0-2930-5227