Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

SROI เครื่องมือวัดผล หรือ มโนผล (1)


ในการช่วยเหลือพัฒนาสังคมขององค์กรในภาคธุรกิจ หรือในภาคประชาสังคม ไม่ว่าจะริเริ่มหรือตั้งต้นโครงการในแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือแบบอลังการงานสร้าง และไม่ว่ากระบวนการจะวิลิศมาหรา หรือเฉียบคมเพียงใดก็ตาม ท้ายที่สุด ก็ต้องตอบให้ได้ว่า สิ่งที่สังคม(จะ)ได้รับมีมากน้อยเพียงใด และคุ้มค่ากับทรัพยากรที่ใช้ไปหรือไม่ อย่างไร

ความพยายามในการวัดผลสัมฤทธิ์ของการพัฒนาสังคมให้เป็นรูปธรรม ถือเป็นเรื่องดี และมีความท้าทายอยู่มาก เนื่องจากบรรทัดสุดท้าย (Bottom Line) ของการพัฒนาสังคม ไม่ได้เป็นเพียงตัวเลขที่แสดงถึงผลประกอบการว่ามีกำไร/ขาดทุน เหมือนบรรทัดสุดท้ายในทางธุรกิจ เช่น อัตราการเข้าถึงโภชนาการที่ดีของกลุ่มเป้าหมาย อัตราการละเมิดด้านแรงงานหรือการคุกคามทางเพศที่ลดลง หรือการไม่เลือกปฏิบัติ หรือกรณีทุจริตและการติดสินบนที่ลดลง เป็นต้น

ด้วยเหตุที่ ผลลัพธ์ทางสังคม ไม่ได้เป็นตัวเลขทางการเงินเสมอไป จึงมีความพยายามในการแปลงผลลัพธ์ดังกล่าวเป็นหน่วยเงิน หรือคำนวณผลได้นั้นให้เป็นตัวเลขทางการเงิน โดยเทียบกับทรัพยากรที่ใช้ไป ในรูปของผลตอบแทนทางสังคม (Social Return) ต่อหน่วยของเงินลงทุน (Investment) และเป็นที่มาของเครื่องมือ Social Return on Investment (SROI)

สำหรับผู้ที่กำลังจะนำเครื่องมือนี้ไปใช้ มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่าง การประเมินค่า (Evaluation) กับการวัดผล (Measurement) ก่อนเป็นเบื้องต้น

การประเมินค่า (Evaluation) เป็นการให้ค่าหรือการกะประมาณค่าของสิ่งที่สนใจ ตามที่ควรจะเป็นด้วยเกณฑ์ที่กำหนดขึ้น ซึ่งต้องอาศัยดุลพินิจ (Judgment) ของผู้ที่ทำการประเมิน นอกเหนือจากข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่ใช้ในการประเมิน

การวัดผล (Measurement) เป็นการรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูล และนำเสนอผล ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ โดยปราศจากการใช้ดุลพินิจ ต่อสิ่งที่สนใจ ซึ่งค่าหรือตัวเลขที่ได้จากการวัด มักจะไม่ผันแปร แม้จะเปลี่ยนผู้ที่ทำการวัดผล

SROI จัดอยู่ในกลุ่มของเครื่องมือประเมินค่า ที่อาศัยตัวแทนค่า (Proxies) ทางการเงิน เพื่อแปลงผลลัพธ์จากโครงการเพื่อสังคม (ซึ่งเป็น CSR-after-process ในมุมขององค์กรธุรกิจ) ให้เป็นตัวเลข โดยตัวแทนค่าทางการเงินที่เลือกมาคำนวณ จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจผู้ประเมิน ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันในการประเมินโครงการเดียวกัน

เครื่องมือ SROI ยังใช้ตัวแปรอีก 3 ตัวในการระบุผลกระทบ (Impact) ที่เกิดจากโครงการที่ดำเนินการ ได้แก่ Deadweight (ไม่ทำก็เกิด), Attribution (เกิดโดยผู้อื่น), Drop-off (เลือนหายตามเวลา) เพื่อปรับสัดส่วนบนค่าผลลัพธ์ ก่อนที่จะนำไปคำนวณผลตอบแทนทางสังคมในขั้นตอนสุดท้าย

ด้วยเหตุนี้ การใช้เครื่องมือ SROI ในการประเมินโครงการเดียวกัน มีความเป็นไปได้ที่จะให้ผลตอบแทนทางสังคมที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับการเลือกตัวแทนค่าทางการเงิน และค่าของตัวแปรที่ใช้ในการระบุผลกระทบนั่นเอง

เนื่องจาก SROI เป็นเครื่องมือประเมินค่า ไม่ใช่เครื่องมือวัดผล ข้อท้าทายแรก คือ การใช้ดุลพินิจของผู้ที่ทำการประเมินต่อการเลือกตัวแทนค่า (Proxies) ทางการเงินที่เหมาะสม รวมทั้งการให้น้ำหนักของค่าตัวแปรเพื่อปรับสัดส่วนบนค่าผลลัพธ์ ก่อนที่จะนำไปคำนวณผลตอบแทนทางสังคมในขั้นตอนสุดท้าย

ข้อท้าทายประการที่สอง คือ การเลือกหน่วยงานผู้ที่ทำการประเมินจากภายนอก เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเชื่อถือได้ ซึ่งอาจไม่เป็นอิสระ เนื่องจากองค์กรผู้ดำเนินโครงการเป็นผู้ว่าจ้างให้ทำการประเมิน คล้ายคลึงกับข้อจำกัดในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ในปัจจุบัน ที่ผู้ว่าจ้าง สามารถส่งอิทธิพลต่อทิศทางการประเมิน และผลการประเมิน โดยเฉพาะการใช้ช่องทางที่เปิดให้มีการใช้ดุลพินิจของผู้ประเมิน

ข้อท้าทายประการที่สาม คือ การนำผลการประเมินมาสื่อสารต่อสาธารณะ ในลักษณะของการประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะอวดอ้างเกินจริง (over-claim) โดยในบางโครงการที่มีการเปิดเผยตัวเลขผลตอบแทนทางสังคม มีอัตราร้อยละของ SROI สูงเป็นหลักพันเปอร์เซ็นต์ ซึ่งมักเกิดจากการเลือกหรือคำนวณค่า Proxies ที่มีความเอนเอียงในทางที่ให้คุณแก่โครงการ

ยังมีข้อสังเกตอื่นๆ ในตัวเครื่องมือ SROI และทางเลือกของเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลกระทบทางสังคม (Social Impact Assessment) ตัวอื่นๆ ที่จะขออนุญาตนำมากล่าวถึงในตอนต่อไปครับ

 


บทความที่เกี่ยวข้อง
SROI เครื่องมือวัดผล หรือ มโนผล (1)
SROI เครื่องมือวัดผล หรือ มโนผล (2)


[Original Link]